“แทน ท่าพระจันทร์”

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระปิดตาเนื้อโลหะอีกองค์ที่มีชื่อเสียง โด่งดังมาตั้งแต่อดีต ก็คือพระปิดตาแร่บางไผ่ ของหลวงปู่จัน วัดโมลี นนทบุรี และเป็นพระปิดตาแบบเดียวที่ใช้แร่เหล็กมาถลุงหลอม เทเป็นองค์พระและเป็นยอดแห่งพระปิดตา มหาอุตม์เนื้อโลหะของนนทบุรี

วัดโมลี หรือเดิมเรียกกันว่า วัดใหม่สุวรรณโมลี พระอารามแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลบางรักใหญ่ อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี วัดนี้สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2369 ผู้สร้างวัดชื่อเถื่อน ต่อมาได้อุปสมบทและเป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ต่อมาได้ลาสิกขาบทไป เจ้าอาวาสองค์ที่ 2 ชื่อแก้ว เจ้าอาวาสองค์ที่ 3 ชื่อจัน เป็นพระอาจารย์ที่ทรงวิทยาคมสูง และเป็นผู้สร้างพระปิดตาแร่บางไผ่อันโด่งดัง

หลวงปู่จันได้ค้นพบว่า มีสายแร่เหล็กจากคลองบางไผ่และบางคูรัด ซึ่งมีคุณสมบัติพิเศษที่มีความศักดิ์สิทธิ์เหมาะแก่การสร้างวัตถุมงคล ที่ทรงอานุภาพทางคงกระพันและแคล้วคลาด ท่านจึงคิดนำแร่ชนิดนี้มา สร้างเป็นพระปิดตามหาอุตม์ ท่านได้ให้ลูกศิษย์ของท่านพายเรือพาท่านออกตามหาแร่ตามคลองบางไผ่ ซึ่งก็พบแร่ชนิดนี้อยู่ในน้ำตามคลองบางไผ่จำนวนหนึ่ง

ท่านก็ได้นำเอามาใส่ตุ่มแช่น้ำไว้ข้างๆ กุฏิของท่าน ว่ากันว่าท่านได้เลี้ยงแร่ไว้ในตุ่ม ซึ่งต้องใช้คาถากำกับเพื่อให้ตัวแร่ออกเพิ่มจำนวน

หลวงปู่จันยังได้ออกตามหาแร่บางไผ่อีกตลอด ได้บ้างไม่ได้บ้าง จนในที่สุดแร่ในคลองบางไผ่ ก็หายไปหมดไม่พบอีก ท่านจึงได้เข้าสมาธิดูก็รู้ว่า แร่ย้ายตัวเองหนีไปอยู่ที่คลองบางคูรัด ท่านก็ได้ตามไปและพบแร่ชนิดนี้อีกจำนวนหนึ่ง ท่านก็ได้นำมารวบรวมไว้ในตุ่มน้ำ จนมีจำนวนพอที่จะสร้างพระได้

ท่านจึงได้เริ่มสร้างพระปิดตาขึ้นประมาณกันว่าในปี พ.ศ.2425 โดยท่านจะให้พระและลูกศิษย์ของท่านปั้นหุ่นเทียนเป็นรูปองค์พระตามที่ท่านกำหนด เป็นองค์ๆ ไป และวางเส้นยันต์ที่ฟั่นเป็นเส้นกลมๆ แบบเส้นขนมจีน นำมาวางเป็นเส้นยันต์ตามที่ท่านกำหนด

ดังนั้น การสร้างด้วยวิธีการแบบนี้ องค์พระจึงไม่มีองค์ใดที่ เหมือนกันเป๊ะเลย แต่ก็ยังอยู่ในกรอบ ที่หลวงปู่จันกำหนดไว้ การเทหล่อก็เป็นแบบเดียวกับพระปิดตาหลวงพ่อทับวัดทอง พระปิดตายันต์ยุ่งของหลวงปู่เอี่ยมวัดหนัง คือเทหล่อแบบโบราณด้วยการเข้าดินหุ่น แล้วเททีละองค์

จากกรรมวิธีการหาแร่และกรรมวิธีการสร้าง จึงทำให้พระปิดตาแร่บางไผ่มีจำนวน ไม่มากนักครับ และด้วยสาเหตุที่หลวงปู่จันได้เนื้อแร่มาจากคลองบางไผ่เป็นปฐมนี้เองจึงเป็นที่มาของชื่อเรียกพระปิดตาของหลวงปู่จันว่า “พระปิดตาแร่บางไผ่”

ลักษณะของเนื้อพระแร่บางไผ่นั้น จากการหลอมโลหะในสมัยนั้นจึงทำให้เนื้อโลหะ จากแร่เหล็กไม่สามารถหลอมละลายเข้ากันได้อย่างดีนัก อีกทั้งยังมีขี้แร่ผสมอยู่ในตัวเนื้อ แต่ ก็เป็นเอกลักษณ์พิเศษในตัวพระปิดตาแร่บางไผ่

ซึ่งจะปรากฏเส้นเสี้ยนในเนื้อพระที่เกิดขึ้น จากการหลอมแร่ ลักษณะคล้ายเสี้ยนตาล วิ่งสวนกันไปมาในบางจุดซึ่งจะมีในพระแร่บางไผ่แท้ทุกองค์มากน้อยต่างกันไป และเป็นจุดสังเกต ในการพิจารณา ดังคำของคนรุ่นเก่ากล่าวว่า “ปิลันทน์ให้ดูไข บางไผ่ให้ดูเสี้ยน” ตัวสนิมของพระปิดตาแร่บางไผ่ จะมีสีสนิมแบบสนิม ของเหล็ก เนื่องจากเป็นเนื้อแร่เหล็กครับ

พระปิดตาแร่บางไผ่ สามารถแยกพิมพ์ออกได้คร่าวๆ ดังนี้ 1. พิมพ์หมวกแก๊ป 2. พิมพ์เศียรตัด 3.พิมพ์เศียรโต 4.พิมพ์ทองหยอด 5.พิมพ์ปิดตาไม่โยงก้น ฯลฯ นอกจากนี้ก็ยังมีพระพิมพ์อื่นๆ อีกบ้างที่ไม่ได้เป็นแบบพิมพ์พระปิดตาก็มี แต่ก็พบน้อย มากครับ ในวันนี้ผมก็นำรูปพระปิดแร่บางไผ่มาให้ชมครับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน