คอลัมน์ วิถีแห่งการปฏิบัติพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

จากสำนวนเขียน พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ และเป็นการตีพิมพ์เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547 ดำเนินไปอย่างเรียบรื่น

บอกให้รู้ว่าหมู่บ้านตีนถ้ำสาริกา นครนายก เป็นชาวบ้านห้วยอีเห็น

บอกให้รู้ด้วยว่ากำหนดแห่งการปฏิบัติ ปรารภความเพียร ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นเมื่อใด

“เป็นชาวโคราชมาทำไร่ตั้งบ้านอยู่ชื่อว่าบ้านห้วยอีเห็น บ้านเรือนยังไม่มี มีแต่ป่า”

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บอกความประสงค์ที่จะจำพรรษาที่ถ้ำนี้ ชาวบ้านก็ยินดีว่าจะได้ทำบุญกับท่าน

กระนั้น ภายในความยินดีก็มีความวิตก








Advertisement

“ท่านพระอาจารย์จะอยู่ได้ไหม ปีที่แล้วมีพระมาจำพรรษา 4 รูป ยังไม่พ้นพรรษาตายคาถ้ำ 2 รูป ออกไปตายข้างนอกอีก 2 รูป”

ได้ฟังดังนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ตอบว่า

“ไหนๆ ก็รอนแรมจากกรุงเทพฯ มาไกล จวนจะเข้าพรรษาแล้ว ลองดู จะตายเป็นองค์ที่ 5 ก็จำเป็น”

เป็นความเด็ดเดี่ยว เป็นความหาญกล้า

แต่ละบรรทัดต่อไปนี้เป็นการเรียบเรียงจากสำนวนเขียน พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ดำเนินไปเสมือน “ท่านเล่าว่า”

ดังนี้

พอเข้าพรรษาได้ 3 วันก็ได้เรื่องทีเดียว จิตใจฟุ้งซ่าน กายรำคาญ เต็มไปด้วยความวิตกนานาประการ ล้วนแต่หาสาระไม่ได้ทั้งนั้น

ธาตุพิการ อาหารไม่ย่อย ฉันข้าวโพดเข้าไปถ่ายเป็นเมล็ดออกมา

ไม่เป็นอันหลับอันนอน พิจารณาทบทวนไปมาเลยคิดได้ว่าลองไม่ฉันดีกว่า บอกชาวบ้านว่า

“ถ้าไม่เห็นอาตมาลงไปบิณฑบาต อย่าขึ้นมานะ”

“ชาวบ้านพาซื่อไม่ขึ้นมาจริงๆ บอกว่า “ถ้าถึง 7 วัน ไม่เห็นลงไปบิณฑบาตขึ้นมาเอาไฟมาด้วยจะได้เผากัน”

พิจารณากำหนดจิตอยู่ในร่างกายนี้พอสมควรแล้วก็นั่งสมาธิ ความวิตกกังวลทับถมเข้ามา ร่างกายเจ็บปวดเวทนา ทั้งแสบทั้งร้อนสารพัดเกี้ยวขาสารพาเกี้ยวแข้ง คิดขึ้นได้ว่า จะเป็นตายร้ายดีก็ให้ตัดสินใจกันวันนี้

เมื่อลงใจได้เช่นนี้ พิจารณากำหนดอยู่ในร่างกายไม่ถอย จิตก็รวมใหญ่

ปรากฏว่า ร่างนี้พังไปเลย เกิดไฟเผาไหม้เป็นเถ้าถ่านจมหายไปในแผ่นดิน เกิดความรู้สึกขึ้นมาเหมือนครั้งอยู่วัดเลียบและที่กรุงเทพฯ ซ้ำขึ้นมาอีก

เป็นครั้งที่ 3

เวทนาและความวิตกกังวลทั้งหลายหายหมดสิ้น เหลือแต่ปีติ สุขและเอกัคคตา เกิดความรู้แปลกประหลาดขึ้นมา

สุตตาวะโต จ โข ภิกขะเว

อสุตตาวะตา ปุถุชชะเนวนาปี

ภควา มูละกะโน ภันเต ภะคะวัง

เนตติกา ภะคะวัง ปฏิสสะระณา

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุโยคาวจรเจ้า ผู้ได้ศึกษามาก็ดี ภิกษุโยคาวจรเจ้าที่ไม่ได้ศึกษา เพราะความที่ตนเป็นปุถุชนคนหนาก็ดี ให้เอาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูลเหตุ เอาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเนติแบบฉบับ เอาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งที่อาศัยเสมอด้วยชีวิต เพราะเรื่องทั้งหลายเหล่านี้แม้แต่พระตถาคตเจ้าก็ได้กระทบกระทั่งมาแล้วอย่างแสนสาหัส

คาถานี้ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาเลย

หากเทียบกับสำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ ซึ่งเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนตุลาคม 2512 ก็ตรงกัน

“ขณะที่กำลังเกิดความสว่างผ่องใสอันเป็นภายในนั้น พยายามพิจารณาหาความจริงเพื่อเป็นแนวทางในอันที่จะปฏิบัติตัวตามทำนองคลองธรรมที่แท้จริงและจะได้แนะนำคนอื่นทำให้ถูกทางต่อไป

“จึงได้พิจารณาต่อไปถึงคำว่าพระพุทธองค์ตรัสว่า “ให้เอาเราเป็นเนติแบบฉบับ”

นั่นก็คือ ให้เอาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นมูลเหตุ เอาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นเนติแบบฉบับ เอาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัยเสมอด้วยชีวิต”

ตรงนี้เอง คือ บาทก้าวอันสำคัญยิ่งสำหรับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน