“พระมงคลพัฒนพิธาน” (พิพัฒน์มงคล คุณยุตโต) พระเถระแห่งสุโขทัย มีวัตรปฏิบัติงดงาม เปี่ยมเมตตาธรรม

ปัจจุบัน สิริอายุ 59 ปี พรรษา 39 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดพิพัฒน์มงคล ต.ทุ่ง เสลี่ยม อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย และเจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม

มีนามเดิมว่า พิพัฒน์มงคล แดงลังกา เกิดเมื่อวันที่ 29 ก.ย.2501 ที่บ้านมะขามหลวง ต.มะขามหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

อายุ 12 ปี เข้าพิธีบรรพชาที่วัดมะขามหลวง บ้านเกิด มี ครูบาบุญศรี สีลวิสุทโธ เป็นพระอุปัชฌาย์

ครั้นเมื่ออายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2521 ที่วัดพระคงฤาษี อ.เมือง จ.ลำพูน โดยมี พระราชสุตาจารย์ (เจ้าคณะจังหวัดลำพูนขณะนั้น) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูโสภณธีรคุณ เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และ พระครูประสาทสุตาคม (ปัจจุบันเป็นเจ้าคณะจังหวัดลำพูน) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า คุณยุตโต แปลความหมายว่า ผู้ประกอบด้วยคุณความดี

ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสำเร็จ สอบได้นักธรรมชั้นเอก ได้จาริกธุดงค์แสวงบุญไปในที่ต่างๆ ทั้งภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคอีสาน รวมไปถึงต่างประเทศ ตั้งแต่บรรพชาเป็นสามเณรปีที่ 3 รวมเวลาที่ออกธุดงค์กว่า 15 ปี

ครั้งนั้นเดินธุดงค์ผ่านมาทางอำเภอทุ่งเสลี่ยม เพื่อจะเดินทางกลับวัดเดิมที่จังหวัดลำพูน หลังจากที่ได้ธุดงค์มาได้ 5 ปีจึงได้ปักกลด ณ บริเวณหัวไร่ปลายนาแห่งหนึ่ง ณ หมู่ที่ 9 ต.ทุ่งเสลี่ยม อันเป็นที่รกร้างว่างเปล่า

ปฏิบัติธรรมอยู่ที่นั่นเป็นเวลา 15 วัน เล็งเห็นว่าสถานที่ดังกล่าวมีความเงียบสงบเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง

ต่อมาได้พบกับนางสุพิณ พิพัฒน์เดชพงษ์ เจ้าของที่ดินที่ปักกลดจำพรรษาอยู่ เกิดความเลื่อมใสในสัมมาปฏิบัติ จึงได้ถวายที่ดินผืนนี้ซึ่งเป็นที่รกร้างจำนวน 11 ไร่เศษ เพื่อให้เป็นที่ก่อสร้างสำนักปฏิบัติธรรม “พัฒนาพุทธนิมิต” ณ บริเวณแห่งนี้เมื่อปลายปี 2526

ริเริ่มก่อสร้างสำนักปฏิบัติธรรม โดยอาคารหลังแรกที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ คือ หอสวดมนต์ และใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรมไปด้วย

จนถึงปี 2527 ได้ยกฐานะขึ้นเป็นวัดที่ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้ชื่อว่า วัดพิพัฒน์มงคล

พัฒนาสร้างเสนาสนะ และถาวรวัตถุต่างๆ โดยได้รับแรงศรัทธาจากสาธุชนที่เลื่อมใสช่วยสนับสนุนเป็นอย่างดี

ส่งผลให้วัดพิพัฒน์มงคลกลายเป็นที่รู้จักกันดีไปทั่วประเทศจนไปถึงยังต่างประเทศ เป็นธรรมสถานชื่อดังอันดับต้นของประเทศไทย รวมทั้งยังเป็นแหล่งสถานที่ศึกษาเชิงพุทธศาสนา และสถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ

อีกทั้งยังได้พัฒนาถาวรวัตถุต่างๆ ที่จัดว่าเป็นเอกลักษณ์วิจิตรเชิงศิลปะโบราณทรงไทย ล้านนาขึ้นเป็นจำนวนมากในวัดแห่งนี้ เช่น โบสถ์เรือนแก้ว วิหารล้านนา ลานศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี-นักธรรม และการปฏิบัติธรรม รวมทั้งพระพุทธรูปทองคำ ศิลปะสมัยกรุงสุโขทัยที่ประดิษฐานและสร้างชื่อเสียงโด่งดังมาควบคู่กับวัดและจังหวัดสุโขทัย

ด้วยคุณูปการดังกล่าว พ.ศ.2540 ได้เข้ารับพระราชทานเสมาธรรมจักรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สาขาสงเคราะห์ประชาชน และเข้ารับพระราชทานโล่วัดพัฒนาตัวอย่างจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พ.ศ.2541 ได้เข้ารับเกียรติบัตรอุทยานการศึกษาในวัด จากพระหัตถ์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2542 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรในราชทินนามที่ พระครูวรคุณประยุต

พ.ศ.2559 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเลื่อนและตั้งสมณศักดิ์เป็นกรณีพิเศษ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า สิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 12 สิงหาคม 2559

ในโอกาสนี้ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่ พระมงคลพัฒนพิธาน

ส่วนงานปกครองคณะสงฆ์นั้น เมื่อพ.ศ.2546 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอทุ่งเสลี่ยม

ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปี ที่เริ่มสร้างวัดขึ้น ไม่เคยจัดดนตรีมหรสพใดๆ ภายในวัด มีเพียงเครื่องขยายเสียงที่เปิดแต่เสียงธรรมะเป็นประจำทุกวัน เพื่อให้สาธุชนที่มาเยี่ยมวัดมากราบขอพรได้มีโอกาสฟังธรรมะไปด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน