วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

ความแตกต่างระหว่าง สำนวน พระอาจารย์วิริยังค์ กับสำนวน พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ มิได้อยู่ที่ เนื้อหา หากแต่อยู่ที่ เวลา

เพราะว่า พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ ระบุว่าเป็นเหตุการณ์ ณ ถ้ำสาริกา นครนายก

ขณะเดียวกัน พระอาจารย์วิริยังค์ ยืนยันว่า “ในการผ่องใสแห่งจิตที่ได้รับในถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ของท่านพระอาจารย์มั่นจึงเป็นที่พอใจของท่านที่ได้เข้าถึงธรรมอันละเอียดทั้งฌานทั้งญาณ ทำให้ท่านแน่ใจถึงความรู้ของท่านอย่างแท้จริง”

และ “ครั้นท่านได้พักบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ ณ ที่นี้จวบใกล้จะเข้าพรรษาแล้วท่านจึงได้ออกเดินธุดงค์ต่อไปผ่านจังหวัดสระบุรี ได้ไปถึงจังหวัดลพบุรี และได้พักอยู่ที่ถ้ำสิงโต เขาช่องลม (ปัจจุบันนี้เรียก เขาพระงาม) ปีนั้นเป็นปีพ.ศ.2446

รายละเอียดจาก สำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ ในระยะกาลตอนนี้น่าศึกษาและน่าพิจารณาอย่างเป็นพิเศษ

โปรดอ่าน

ขณะอยู่ ณ เขาช่องลม บำเพ็ญความเพียรหวนระลึกถึงความเป็นจริงที่ได้ปรากฏแล้วให้แจ่มแจ้งยิ่งขึ้น ได้ระลึกว่า

“สาวกของพระพุทธเจ้าจะต้องถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุ ถือเอาพระพุทธ เจ้าเป็นแบบฉบับ และถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอาศัย”

คำว่า ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุ นั้นได้แก่ การที่จะปฏิบัติให้เป็นไปเพื่อความถูกต้องหรือต้องการความจริงแท้ ต้องดูความจริงอันเป็นมูลเหตุที่ทำให้พระพุทธองค์ได้ออกบรรพชาในเบื้องต้น

พระองค์ได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างนับตั้งแต่ราชบัลลังก์ พระมเหสี ราชสมบัติ แม้ที่สุดพระเกศา

การเสียสละเช่นความสุขอันเป็นไปด้วยราชสมบัตินั้นพระพุทธองค์มีผู้คนคอยยกย่องสรรเสริญ คอยปฏิบัติวัฏฐาก แล้วได้เสียสละมานอนกับดินกินกับหญ้า ใต้โคนต้นไม้ถึงกับอดอาหาร เป็นต้น

การเสียสละเหล่านี้เพื่อประ โยชน์อะไร

เพื่อให้ถึงซึ่งวิโมกขธรรม คือธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย

เมื่อพระองค์จะได้ตรัสรู้ทรงนั่งสมาธิและได้ทรงพิจารณาซึ่งความจริงคืออริยสัจ 4 นั้นนี้ เป็นมูลเหตุอันเป็นเบื้องแรกของพระองค์ ผู้ที่จะเจริญตามรอยพระยุคลบาทจำเป็นที่จะต้องระลึก ถึงความเป็นจริงของพระพุทธ องค์ในข้อนี้นำมาเป็นสิ่งพิสูจน์ปฏิปทาของตนที่กำลังดำเนินอยู่

ว่าในการปฏิบัติหรือการบรรพชา อุปสมบทในพระพุทธศาสนา พวกเราได้พากันถือเอาต้นเหตุให้พึงระลึกถึงความจริงของตนว่า

ได้เสียสละโดยความเป็นจริงหรือไม่

ทั้งนี้ เพราะถ้าไม่ถือเอาความจริงตามปฏิปทาของพระพุทธองค์ในข้อนี้ ก็จะเรียกได้ว่าไม่ถือเอาพระองค์เป็นมูลเหตุ

คือ บางหมู่บางเหล่าถือการปฏิบัติเพียงแต่เป็นโล่บังหน้าแล้วก็มีเบื้องหลังที่ไม่มีการเสียสละ หรือทำไปอย่างมีการยุ่งยากพัวพัน

จะสละก็สละไม่จริง

บางทีแม้แต่เป็นบรรพชิตแล้วก็ยังมีจิตใจโลภโมโทสัน ไม่สละแม้แต่อารมณ์ อาจจะถือว่าข้าพเจ้ามียศถาบรรดาศักดิ์ อะไรเทือกนั้น

บางทีการอยู่ป่าเอามาเพียงเพื่อเป็นเลศบางประการ

ทำเป็นว่าเรานี้อยู่ป่าอยู่เขาเหมือนจะออกวิเวกให้เป็นที่บำเพ็ญความสงบ แต่กลับเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความห่วงใย อาลัยยุ่งยากด้วยการก่อสร้าง สะสมด้วยเครื่องกังวลนานัปการ

นี่ไม่ได้ถือเอาพระพุทธเจ้าเป็นมูลเหตุ

ขณะที่กำลังเกิดความสว่างผ่องใสอันเป็นภายในนั้น ได้พยายามพิจารณาหาความจริงเพื่อเป็นแนวทางในอันที่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมที่แท้จริง และจะได้แนะนำให้คนอื่นทำให้ถูกทางต่อไป จึงได้พิจารณาต่อไปถึงคำว่า พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า

“ให้เอาเราเป็นเนติแบบฉบับ”

ความแตกต่างระหว่าง สำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ กับ สำนวนเขียน พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ

1 อยู่ที่กำหนดเวลา สถานที่

1 อยู่ที่ พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ เริ่มต้นด้วยคาถาบาลี ตามด้วยคำแปล ขณะที่ พระอาจารย์วิริยังค์ เป็นอรรถาธิบาย

กระนั้น 2 สำนวนก็มาจากกระบวนการ “ท่านเล่าว่า”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน