พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองราชย์เมื่อพุทธ ศักราช 2489 ตลอด 7 ทศวรรษแห่งการครองราชย์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎร ทรงเป็น “ศูนย์รวมจิตใจแห่งสามัคคีธรรม” ของ ปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด

พ.ศ.2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ขณะทรงเจริญพระชนม พรรษา 29 พรรษา

มีการบันทึกไว้ในหนังสือตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร สมัยสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ว่า …
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชประสงค์จะได้ทรงผนวชในพระพุทธศาสนาเป็นเวลานาน และเมื่อได้ทรงคุ้นเคยกับหลักการและการปฏิบัติของพุทธศาสนิก ในระหว่างที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ที่ทรงพระศรัทธายิ่งขึ้น ต่อมาเมื่อต้นศก 2499 สมเด็จพระสังฆราช ผู้ที่ทรงนิยมนับถือด้วยวิสาสะอันสนิท และทรงถือว่ามีคุณูปการ ส่วนพระองค์มามากได้ประชวรลง ต้องเสด็จไปประทับ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
พระอาการเป็นที่วิตกทั่วไปจนแทบ ไม่มีหวัง แต่ได้หายประชวรมาได้อย่างน่าประหลาด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมฟังพระอาการหลายครั้ง และได้ทรงพระราชดำริว่า ถ้าได้ทรงผนวชด้วยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นพระอุปัชฌายะแล้ว จะเป็นที่ สมพระราชประสงค์ ในอันที่จะได้ทรงแสดงพระราชคารวะและศรัทธา ในพระองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นอย่างดี จึงได้ตกลงพระราชหฤทัยที่จะทรงผนวช”

“พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนา ณ พระอุโบสถวัดพระศรี รัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2499 และเสด็จมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนถึงวันทรงลาผนวช เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2499 รวม 15 วัน”

นับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญของประเทศไทย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชกรณียกิจในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาหลายประการ เช่น ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในพิธีกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนาอยู่ เป็นนิตย์ ทรงสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามหลายแห่ง อาทิ พระราชดำริสร้างพระพุทธนวราชบพิตร เพื่อพระราชทานเป็น พระพุทธรูปประจำจังหวัดต่างๆ การบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตน ศาสดารามในโอกาสงานสมโภชฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ทรงอุปถัมภ์คณะสงฆ์ ได้แก่ การส่งเสริมและอุปถัมภ์การศึกษา พระปริยัติธรรม การตั้งเปรียญการพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระภิกษุและสามเณร ทรงอุปถัมภ์มหาวิทยาลัยสงฆ์ ได้แก่ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้น

ทรงเกื้อกูลพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืน โดยทรงสนับสนุนให้จัดตั้ง “มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ” ขึ้นเมื่อพุทธศักราช 2510 เพื่อส่งเสริมการจัดสร้างพระคัมภีร์อัฏฐสาลีนี ภาคภาษาไทย ซึ่งยังไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งยังทรงอุปถัมภ์ “การสังคายนาพระไตรปิฎก” ณ วัดมหาธาตุ ยุวราชรังสฤษฎิ์ ระหว่างพุทธศักราช 2528-2530 ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อพุทธศักราช 2530

ในวาระดังกล่าวนี้ได้มีการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกออกเป็นภาษาบาลีและฉบับแปลภาษาไทยฉบับสมบูรณ์ขึ้น จากนั้นโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เพื่อศึกษาพระไตรปิฎกและ อรรถกถา กระทั่งแล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช 2534 เพื่อประโยชน์ ในการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎกให้แพร่หลาย

ห้วงเวลานี้เป็นครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ที่มีการก่อสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คือ “การสร้างพระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์” พระพุทธรูปปางลีลา หล่อด้วยสำริด ที่มีความสูงถึง 15.875 เมตร เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธาน ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม แล้วเสร็จเมื่อพุทธศักราช 2525 ภายหลังจากที่มีการสร้าง พระศรีสรรเพชญดาญาณในรัชสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดี ที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อพุทธศักราช 2043 ซึ่งนับเวลา ที่ล่วงมายาวนานถึง 482 ปี

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน