คอลัมน์ คติ-สัญลักษณ์

ชวพงศ์ ชำนิประศาสน์

เจดีย์ลักษณะนี้ เป็นเจดีย์ที่มีลักษณะรูปแบบพิเศษ คือมีแกนหลักเป็นธาตุเจดีย์ที่มีลักษณะสี่เหลี่ยมหรือสี่ทิศ และแต่ละทิศจะมีพระพุทธรูปคือ อุเทสิกเจดีย์ประทับอยู่

คติ สัญลักษณ์ของพระพุทธรูป ทั้งสี่ทิศ มี 2 คติ คือ

รูปแบบที่ 1 เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ที่ปรากฏขึ้นในภัทรกัปหรือสมัยที่โลกจะมีพระพุทธเจ้าติดต่อกัน 5 พระองค์

รูปแบบที่ 2 เป็นสัญลักษณ์ของอิริยาบถ 4 นอน นั่ง ยืน เดิน ของพระพุทธเจ้าที่ได้แสดงธรรมในอิริยาบถทั้ง 4

ในรูปแบบที่ 1 มีธาตุเจดีย์เป็นแกนหลัก มีพระพุทธรูปประจำอยู่ทั้ง 4 ทิศ ซึ่งสอดคล้องกับคติของพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่มีพระพุทธเจ้าในรูปแบบของสัมโภคกาย ประจำอยู่ในพุทธเกษตรทั้ง 4 ทิศ

ความหมายหรือคติสัญลักษณ์ที่แปลความรู้หรือรูปแบบของพระพุทธรูปทั้ง 4 ทิศ ก็คือ พระพุทธรูปทางทิศเหนือ ฝ่ายเถรวาทนาม กกุสันโธ ฝ่ายมหายานนาม อโมฆสิทธิ์ หมายถึงผู้มีความสำเร็จอันสมบูรณ์คือ การปฏิบัติธรรมจนพ้นไปจากโลก พ้นไปจากทุกข์ สิ้นสุดการกระทำที่จะทำให้เกิดทุกข์อีก

พระพุทธรูปทางทิศตะวันออก ฝ่ายเถรวาทนาม โกนาคม ฝ่ายมหายานนาม อักโษภยะ หมายถึง พระผู้ไม่หวั่นไหว นั่นคือ เมื่อพ้นไปจากโลกไปจากทุกข์ทั้งปวงแล้ว ก็แปลความไม่หวั่นไหวในทุกข์ไม่ปรากฏใดๆ อีกต่อไป

พระพุทธรูปทางทิศใต้ ฝ่ายเถรวาทนาม กัสสปะ ฝ่ายมหายานนาม รัตนสัมภวะ แปลว่า ผู้มีกำเนิดอันประเสริฐ ก็คือผู้พ้นไปจากทุกข์เพราะไม่มีสิ่งใดประเสริฐไปจากการพ้นทุกข์

พระพุทธรูปทางทิศตะวันตก ฝ่ายเถรวาท นาม สมณโคดม ฝ่ายมหายานนาม อมิตพุทธหรือ อมิตยุส แปลว่า ผู้มีรัศมีอันหาที่สุดมิได้ คือ มีปัญญาอันรู้แจ้ง แทงตลอดความจริงคือ อริยสัจ ย่อมพ้นไปจากโลก จากทุกข์ทั้งปวง

รูปแบบที่ 2 ที่พบเห็นกันในประเทศไทยคือ ปาง 4 อิริยาบถทั้ง 4 ที่ประดิษฐานอยู่ที่ธาตุเจดีย์ทั้ง 4 ทิศนั่น คติและสัญลักษณ์จะต่างไปจากรูปแบบที่กล่าวข้างต้น

ในรูปแบบของอุเทสิกเจดีย์ที่เป็นรูปอิริยาบถ 4 นั้น จากวัดพระสี่อิริยาบถ จ.กำแพงเพชร ซึ่งเป็นศิลปะสุโขทัย

ในปางประทับยืนนั้นเรียกว่า ปางประทานอภัย ในพระพุทธประวัติกล่าวว่า เป็นปางที่พระพุทธเจ้าประทานอภัยแก่พระเจ้าอชาตศัตรูที่ขออภัยที่ได้ส่งนายขมังธนูไปปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คติและสัญลักษณ์ก็คือการให้อภัยต่อผู้อื่นเป็นบุญกุศลอย่างยิ่ง

ปางลีลา ในพุทธประวัติกล่าวถึงพระสิริงดงามของพระพุทธเจ้าเมื่อเดินมาถึงประตูเมืองสังกัสสะนคร ที่พระสารีบุตรประทับอยู่ พระสิริงดงามของพระองค์ ครอบงำรัศมีเทวดาและพรหมทั้งปวง แต่ในอีกความหมายหมายถึง พระกรุณาคุณของพระพุทธเจ้าที่ได้เสด็จจารึกไปเผยแผ่พระธรรมแก่ผู้คนในแว่นแคว้นต่างๆ

ปางอิริยาบถนั่ง โดยทั่วไปพระพุทธรูปในอิริยาบถนั่งนี้มีมากมายหลายปาง โดยมีความหมายคติธรรมในเรื่องแตกต่างกัน เป็น ปางสมาธิ คือ ประทับนั่งพระหัตถ์ (มือ) ประสานกันบนตัก หมายถึงการเข้าสมาธิหรือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ปางมารวิชัย ก็หมายถึงการแสดงที่หมายถึงการหลุดพ้นไปจากโลก จากมาร เป็นต้น

ส่วนปางไสยาสน์ หรือที่เรียกกันว่าพระนอน เพิ่งกล่าวถึงเมื่อสัปดาห์ก่อน

ในคติและความหมายของพระ 4 อิริยาบถนั้น จุดมุ่งหมายของผู้สร้างคงเน้นให้เห็นถึงการแสดงธรรมในโอกาสต่างๆ กันของพระพุทธเจ้า ซึ่งจะใช้พระอิริยาบถนั้นแสดงความหมายของธรรมนั้นๆ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน