คอลัมน์ วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

เส้นทางสายปริยัติ สายปฏิบัติ ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จากวัดเลียบ อุบลราชธานี ไปยัง วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเป็นอย่างมาก

โดยเฉพาะระหว่างพำนักอยู่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร อย่างที่ พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ระบุว่า

“หมั่นไปสดับพระธรรมเทศนา อบรมปัญญากับ เจ้าคุณพระอุบาลี (สิริจันทเถระ จันทร์)”

โดยเฉพาะเมื่อปลีกวิเวกไปบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้ำสาริกา นครนายก และเมื่อย้อนกลับวัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร ก็เดินทางไปบำเพ็ญสมณธรรมอย่างค่อนข้างยาวนาน ณ ถ้ำสิงโต วัดเขาพระงาม ลพบุรี

โดยการหนุนช่วย อุปถัมภ์ เยี่ยงกัลยาณมิตร จาก พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (สิริจันโท จันทร์)

สิ่งหนึ่งพึงควรให้ความสนใจอย่างเป็นพิเศษนอกจากอุคคหนิมิตจากวัดเลียบซึ่งปรากฏในชีวประวัติสำนวนเขียน พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ที่ว่า

“เมื่อจิตรวมลงได้ปรากฏรูปอสุภะภายนอกก่อน คือ เห็นคนตายอยู่ข้างหน้า ห่างจากที่นั่งประมาณ 1 วา ผินหน้ามาทางท่านมีสุนัขตัวหนึ่งมาดึงเอาไส้ออกไปกินอยู่ เมื่อเห็นดังนั้นท่านก็มิได้ท้อถอยคงกำหนดนิมิตนั้นให้มาก”

อันเป็น “บาทฐาน” สำคัญของการบำเพ็ญสมณธรรมในกาลต่อมา และเป็น “บาทฐาน” ให้ส่งผลต่อการพัฒนาอย่างทรงความหมาย

ทรงความหมายอย่างต่อเนื่องอย่างที่เรียกว่าปรากฏการณ์ “ดินหนุนดิน”

อุคคหนิมิตอันเริ่มจาก “คนตาย” ตามมาด้วยปฏิบัติการของ “สุนัข” เป็นอุคคหนิมติอันถือได้ว่าเป็นการพิจารณาในทาง “อสุภะ”

ในทางปริยัติ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ให้การอรรถาธิบายค่อนข้างละเอียด

อสุภ อสุภะ สภาพที่ไม่งาม 1 พิจารณาร่างกายของตนและผู้อื่นให้เห็นสภาพที่ไม่งาม 1 ในความหมายเฉพาะ หมายถึงซากศพในสภาพต่างๆ ซึ่งใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน รวม 10 อย่าง คือ

1 อุทธุมาตกะ ซากศพที่เน่าพอง 2 วินีลกะ ซากศพที่มีสีเขียวคล้ำ 3 วิปุพพกะ ซากศพที่มีน้ำเหลือง ไหลออกอยูˆ 4 วิจฉิทท กะ ซากศพที่ขาดกลางตัว 5 วิกขายิตกะ ซาก ศพที่สัตว์กัดกินแล้ว 6 วิกขิตตกะ ซาก ศพที่มีมือเท้าศีรษะขาด 7หตวิกขิตตกะ ซาก ศพที่คนมีเวรเป็นข้าศึกกันสับฟันเป็นท่อนๆ 8 โลหิตกะซาก ศพที่ถูกประหารด้วยศัสตรามีโลหิตไหลอาบอยู่ 9 ปุฬุวกะ ซากศพที่มีตัวหนอนคลานคล่ำไปอยู่ 10 อัฏฐิกะ ซากศพที่ยังเหลืออยู่แต่ร่างกระดูก

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ใช้อสุภะเป็นอารมณ์กรรมฐานจนถึงขนาด

“ออกจากที่นั่งแล้ว จะนอนอยู่ก็ดี จงกรมอยู่ก็ดี เดินไปมาอยู่ก็ดี ก็ให้ปรากฏนิมิตอยู่อย่างนั้น ครั้นนานวันก็ขยายให้ใหญ่ ขยายให้เน่าเปื่อยผุพัง เป็นจุณวิจุณไป กำหนดให้มากให้มีทั้งตายเก่าและตายใหม่ จนกระทั่งเต็มหมดทั้งวัดวา มีแร้งกาหมายื้อแย่งกัน กินอยู่”

เป็นการดำเนินการ “จนอสุภะนั้นได้กลับกลายเป็นวงแก้ว”

คงจำได้ว่า สำนวนเขียน พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ มีความพิสดารมากยิ่งขึ้นไปยิ่งกว่าสำนวนเขียน พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)

นั่นก็คือ ภายในอุคคหนิมิตมิใช่ใครที่ไหนหากแต่เป็น

“ตัวของท่านมานอนตายอยู่ข้างหน้า ห่างประมาณ 1 วา มีสุนัขตัวหนึ่งลากไส้ออกไปกิน จึงกำหนดอยู่ในนิมิตนั้นจนร่างนั้นเน่าผุเปื่อย เห็นหลายศพทั้งตายเก่า ตายใหม่ แร้ง กา สุนัข ทึ้งกัดกินอยู่เหลือแต่ร่างกระดูกเต็มไปหมดทั้งวัด”

ความพิสดารมากยิ่งกว่าอยู่ตรงที่

“เริ่มมองเข้ามาในตนก็เห็นแต่ร่างกระดูก มองเพื่อนพระเณรก็เห็นแต่ผ้าจีวรคลุมร่างกระดูกเนื้อหนัง ตับไต ไส้พุงไม่มี เวลาไปบิณฑบาตมองดูชาวบ้านก็เห็นแต่เครื่องนุ่งห่มห่อกระดูก เวลาพูดกันเห็นแต่ฟันกระทบกันทำให้เกิดเป็นเสียง”

ภายในรายละเอียดอัน “ท่านเล่าว่า” ผ่าน พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ อย่างค่อนข้างลึกซึ้งยิ่งว่า

“นึกแล้วอยากหัวเราะแต่มีสัญญาณบอกว่า อย่านะ เดี๋ยวเป็นบ้า”

พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พิจารณาไป พิจารณาไป โดยเพ่งแต่ร่างกระดูกนั้นจนกระดูกนั้นรวมเป็นดวงแก้วโตประมาณเท่าผลมะพร้าว

เพ่งดูดวงแก้วสว่างไปข้างหน้า

บนเส้นทางจาก คนตาย กลายเป็น กระดูก กลายเป็น ดวงแก้ว นี้สำคัญเป็นอย่างมาก

เป็นความสำคัญอันเนื่องแต่การบำเพ็ญสมณธรรม ณ วัดเลียบ อุบลราชธานี และยึดโยงไประหว่างอยู่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร

เป็นความต่อเนื่องซึ่งสะท้อนพัฒนาการทางสมาธิทางปัญญาเป็นลำดับ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน