ราม วัชรประดิษฐ์

www.arjanram.com

พระครูวิมลสมณวัตร หรือที่รู้จักกันในนาม “หลวงพ่อเพี้ยน อัคคธัมโม” อดีตเจ้าอาวาสวัดเกริ่นกฐิน จ.ลพบุรี อีกหนึ่งพระเกจิผู้ทรงพุทธาคมที่เพิ่งละสังขารไปเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน

วัดเกริ่นกฐิน ต.บ้านชี อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้ว มีเพียงศาลาเรือนไทยหลังเก่าๆ อยู่หลังเดียวเท่านั้น แต่หลังจากที่ หลวงพ่อเพี้ยน ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านเป็นผู้นำญาติโยมในการร่วมกันพัฒนา จนทุกวันนี้วัดแห่งนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและมีความสำคัญที่สุดวัดหนึ่งของจังหวัด ผู้คนหลั่งไหลมาทำบุญและชมบารมีของหลวงพ่อ นอกจากนี้ ยังมาร่วมบริจาคทรัพย์บูชาวัตถุมงคลที่หลวงพ่อสร้างด้วยปรากฏพุทธคุณเป็นที่เลื่องลือ

หลวงพ่อเพี้ยน เกิดในสกุล ยอดวัด เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ปีขาล พุทธศักราช 2470 ที่บ้านเกริ่นกฐิน ต.บ้านชี อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี หลังจบการศึกษาภาคบังคับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็ช่วยเหลือครอบครัวประกอบอาชีพทำนา กระทั่งถึงวัยแห่งการครองเรือน แต่ภายหลังเกิดความเบื่อหน่ายจึงหันหน้าเข้าสู่เส้นทางธรรม

เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2519 ณ พัทธสีมาวัดกำแพง อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี โดยมี หลวงพ่อเจือ เจ้าอาวาสวัดกำแพง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายา “อคฺคธมฺโม” หมายถึง ผู้มีธรรมอันยอดเยี่ยม

จากนั้นย้ายไปจำพรรษาที่วัดเกริ่นกฐิน เพื่อบำเพ็ญสมณกิจ สวดมนต์ เจริญจิตต ภาวนา ท่านได้มีโอกาสได้ร่ำเรียนวิทยาคมจาก “หลวงพ่อปาน” พระเกจิผู้เรืองอาคม เจ้าอาวาสวัดเกริ่นกฐินในยุคนั้น และได้ทบทวนสรรพวิชาเข้มขลังจากแผ่นดินกัมพูชาที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากโยมบิดาของท่าน ท่านได้ใช้อำนาจแห่งพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ รวมทั้งวิทยาคมที่ได้ร่ำเรียนมาช่วยเหลือญาติโยมที่ประสบเคราะห์ซ้ำกรรมซัดต่างๆ จนได้รับความเลื่อมใสศรัทธา ชื่อเสียงร่ำลือระบือไกล

ในปี พ.ศ.2521 วัดเกริ่นกฐิน ร้างเจ้าอาวาสปกครอง ญาติโยมได้พากันไปร้องต่อพระผู้ใหญ่จังหวัดลพบุรี ขอให้แต่งตั้งหลวงพ่อเพี้ยน เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 แต่ท่านยังคงดำรงวัตรปฏิบัติเช่นเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง วางตนอย่างสมถะ เป็นพระชาวบ้านธรรมดาเช่นเดิม

วันหนึ่งในราวพรรษาที่ 3 ท่านมีกิจนิมนต์ ต้องเดินทางจากวัดไปยัง อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี โดยเส้นทางจากหมู่บ้านเกริ่นกฐิน สู่ถนนสายหลักท่าโขลง-บ้านหมี่ ห่างไกลพอสมควร จำต้องเดินผ่านทุ่งนา ในบางช่วงต้องเดินผ่านป่าละเมาะ สองฟากทางรกทึบมาก ท่านได้พบเห็นการกระทำของโจรร้ายกำลังปล้นชิงทรัพย์ชาวบ้าน แต่เจ้าทรัพย์ต่อสู้ขัดขืน จึงถูกคนร้ายใช้มีดแทงจนถึงแก่ความตายไปต่อหน้าต่อตา

จึงมาคิดว่า “หากชาวบ้านผู้นั้นมีวัตถุมงคลคุ้มครองป้องกันตัว อาจแคล้วคลาดภยันตรายได้อย่างแน่นอน” ทำให้ท่านมุมานะพลิกฟื้นตำราทั้งของโยมบิดาและหลวงพ่อปาน เร่งภาวนาจิตอย่างจริงจัง และเริ่มจัดสร้างของขลังขึ้นเป็นครั้งแรก ได้แก่ “ตะกรุดโทน” ที่เรียกได้ว่าเป็น “เจ้าตำรับตะกรุดโทนอันลือชื่อ” สร้างประสบการณ์แก่ผู้บูชาทั้งด้านเมตตา ค้าขาย ปกป้องคุ้มภัย มหาอุด และคงกระพันชาตรี เป็นที่เลื่องลือทั้งท้องทุ่งบ้านหมี่และผู้ที่ทราบกิตติศัพท์ รวมถึงบรรดานักนิยมสะสมวัตถุมงคลของขลัง นอกจากนี้ยังมี ผ้ายันต์แดง เสือ สิงห์ และเหรียญ ฯลฯ

ปัจจัยทุกบาททุกสตางค์จากการเช่าบูชาวัตถุมงคลต่างๆ หลวงพ่อเพี้ยนได้นำไปใช้ในด้านการพัฒนาวัดวาอารามและสาธารณประโยชน์ต่อชุมชนทั้งสิ้น จนวัดเกริ่นกฐินและชุมชนเจริญรุ่งเรืองเป็นหน้าเป็นตาสืบมา ท่านได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นโท ในราชทินนาม “พระครูวิมลสมณวัตร” เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม พ.ศ.2548

หลวงพ่อเพี้ยน อาพาธด้วยโรคประจำตัวหลายโรค ลูกศิษย์ได้พาไปรักษาตัวยังโรงพยาบาลโรคทรวงอก กรุงเทพฯ และมรณภาพอย่างสงบ เมื่อเวลา 03.25 น. ของวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 สิริอายุ 90 ปี พรรษา 41

สร้างความโศกเศร้าแก่บรรดาลูกศิษย์ลูกหาและสาธุชนเป็นอย่างยิ่งครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน