“หลวงปู่แสน ปสันโน” พระเกจิชื่อดังแห่งอีสานใต้ เล่าขานกันว่าทรงคุณพุทธาคมเข้มขลัง วัดบ้านหนองจิก จ.ศรีสะเกษ

มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดและเปี่ยมด้วยคุณธรรม เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน มีจิตที่เปี่ยมด้วยความเมตตา ได้รับสมญานาม “เทพเจ้าแห่งเขาภูฝ้ายใกล้ชายแดนเขมร”

ปัจจุบันมีอายุ 110 ปี

มีนามเดิมชื่อ แสน คุ้มครอง เกิดที่บ้านโพรง ต.ไพรบึง อ.ขุขันธ์ จ.ขุขันธ์ (ปัจจุบัน ต.ไพรบึง อ.ไพรบึง จ.ศรีสะเกษ) เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2450 มีพี่น้องรวม 6 คน

เมื่อครั้นยังเด็กเป็นลูกศิษย์อยู่ที่วัดบ้านโพรง และพี่ชายซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในสมัยนั้นให้การเลี้ยงดูจนเรียนจบชั้น ป.4

ต่อมาได้บรรพชา ได้ไปศึกษาเรียนหนังสือกับหลวงพ่อมุม วัดปราสาทเยอใต้ พระเกจิชื่อดัง ทั้งภาษาขอม อักษรธรรม และภาษาบาลีด้วย

กระทั่งอายุ 21 ปี เข้าพิธีอุปสมบท และยังคงเรียนวิชากับพระอาจารย์มุมอย่างต่อเนื่อง

ครั้นอายุ 24 ปี ได้ลาสิกขาออกมาช่วยงานทางบ้านที่มีฐานะยากจน และเป็น “หมอธรรม” ช่วยเหลือผู้คนในชุมชนจนได้รับความเคารพนับถือ

ยามเว้นว่างจากการทำเกษตรกรรมก็ชักชวนเพื่อนหมอธรรมด้วยกันเดินทางไปยังประเทศกัมพูชาเพื่อศึกษาวิทยาคมเพิ่มเติม ได้พบพระผู้ใหญ่และพระอาจารย์มากมาย โดยจะเลือกเรียนเฉพาะวิชาที่เกี่ยวกับการช่วยเหลือและรักษาผู้คนเท่านั้น

เมื่อหมดภาระทางบ้าน กลับเข้าสู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง ไปจำพรรษาที่บ้านกุด เสล่า อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ แต่ยังคงปฏิบัติธุดงค์ มักออกธุดงค์ไปตามเทือกเขาพนมดงรักเป็นนิจ

ต่อมาหลวงตาวัน สหธรรมิกรุ่นน้องได้ไปกราบนิมนต์ให้มาช่วยสร้างวัด โดยเจ้าคณะอำเภอกันทรลักษ์อนุญาตให้หลวงปู่แสนไปอยู่ที่วัดอรุณสว่างวราราม(วัดบ้านกราม) แต่ด้วยท่านรักสมถะ ปีต่อมาจึงได้ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่สำนักสงฆ์โนนไทย(วัดกูไทยสามัคคีในปัจจุบัน) อยู่ถึง 3 ปี

กระทั่งเห็นสภาพวัดบ้านหนองจิกที่จะกลายเป็นวัดร้าง เนื่องจากมีพระภิกษุจำพรรษาน้อยและไม่มีผู้ดูแลพัฒนา ท่านจึงย้ายจากสำนักสงฆ์โนนไทย ไปจำพรรษาที่วัดหนองจิกและทำนุบำรุงวัดจนวัดมีพระเข้ามารับช่วงต่อ จำพรรษาอยู่เป็นเวลา 4 ปี โยมญาติจากวัดบ้านโพรงที่ท่านบวชเป็นสามเณร เดินทางมานิมนต์ท่านให้ไปจำพรรษาเพื่อช่วยพัฒนา เนื่องจากวัดใกล้จะร้างด้วยไม่มีพระจำพรรษา

อายุย่างเข้า 93 ปี ดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดในช่วงนั้น จนเมื่ออายุ 97 ปี ลูกหลานเป็นห่วงสุขภาพ จึงได้พาชาวบ้านไปนิมนต์กลับมาจำพรรษา ที่วัดบ้านหนองจิก ตราบจนถึงทุกวันนี้

สำหรับวัตถุมงคลของหลวงปู่แสน ไม่ได้จัดสร้างบ่อยนัก นานครั้งในวาระพิเศษ ส่วนใหญ่จะอนุญาตให้ศิษย์ใกล้ชิดสร้างขึ้นเป็นพิเศษ ทำให้วัตถุมงคลของท่านมีจำนวนไม่มากรุ่น แต่ได้รับความนิยมสูง อาทิ เหรียญเสมาครึ่งองค์หลวงปู่แสน รุ่นเจ้าสัวแสนนิยม, พระสมเด็จหล่อโบราณ รุ่นเจริญลาภ, พระกริ่งมหาโภคทรัพย์ เป็นต้น

เกียรติคุณเป็นที่ศรัทธาเลื่อมใส เป็นพระที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน