คอลัมน์ วิถีแห่งการปฏิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ระหว่างจำพรรษาอยู่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีกิจสำคัญ 2 กิจซึ่งได้ทราบกันแล้ว

1 เป็นกิจอันเกี่ยวกับ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

1 เป็นกิจอันเกี่ยวกับ พระอาจารย์สีทา ชยเสโน

ยังมีเรื่อง 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากภายในห้วงแห่งความคิดของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต คือความต้องการที่จะได้พบกับ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล

ขณะนั้น พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล จำพรรษาอยู่ถ้ำภูผากูด กิ่งอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม

ทราบข่าวเช่นนั้น พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ก็ออกเดินทาง

“ท่านเล่าว่า ทางรถยนต์ไม่มีรถยนต์วิ่ง นับเป็นเวลาเดือนๆ ก็ไม่เห็นสักคันหนึ่ง ตามทางที่ไปก็เป็นดงดิบล้วนแต่ต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นตะเคียน ต้นยาง ต้นประดู่ ต้นตะแบก และสารพัดไม้นั้นเป็นไม้ใหญ่ บางต้น 9 อ้อม 10 อ้อม

แลดูไม่เห็นพระอาทิตย์ทีเดียว เป็นป่าเปลี่ยวจริงๆ”

เป็น “ท่านเล่าว่า” อัน พระอาจารย์วิริยังค์ นำมาถ่ายทอดอีกทอดหนึ่งโดยละเอียด “เห็นที่ไหนเหมาะก็แวะพักทำความเพียรเป็นเวลา 9 วันหรือ 7 วัน”

รายละเอียดระหว่างการเดินทางมีมากกว่านั้น

ขณะที่ท่านอาจารย์มั่นเดินธุดงค์ระหว่างทางได้คิดถึงอาจารย์ของท่านอย่างมาก และวันหนึ่งหลังจากพักผ่อนการเดินทางซึ่งเร่งเดินเป็นวันๆ มาแล้วอย่างเหน็ดเหนื่อย

ท่านได้พิจารณาถึงท่านอาจารย์เสาร์ที่เป็นอาจารย์ของท่าน

ได้ระลึกถึงที่ท่านได้ทราบว่าท่านอาจารย์ของท่านปรารถนาปัจเจกโพธิ ถ้าหากว่ายังมีจิตกังวลในความปรารถนาเช่นนั้น การทำความเพียรเพื่อความพ้นทุกข์ก็จะสำเร็จไปไม่ได้ เช่นเดียวกับเราเหมือนกัน

เมื่อความปรารถนาพระโพธิญาณยังฝังอยู่ในจิตเราก็ไม่สามารถดำเนินจิตเข้าสู่อริยสัจจ์เพื่อความหมดจดจากกิเลสได้

ถ้าเราไปพบท่านอาจารย์ของเรา เราก็จะต้องแนะนำให้ท่านเลิกจากการปรารถนาเช่นนั้นเสีย จะเป็นผลสำเร็จหรือไม่หนอ

นี้เป็นการรำพึงภายในการเป็นสมาธิละเอียด

แต่เมื่อได้สละความคิดนั้นเพื่อมิให้กังวลใจแล้ว ก็ได้ธุดงค์เรื่อยๆ ไปจนใกล้จะถึงถ้ำภูผากูด

โดยรอบบริเวณภูเขาอันเป็นถ้ำแห่งนี้นั้นเป็นภูมิประเทศที่เป็นป่าไม้เต็ง ไม้รัง ไม้แดง ไม้มะค่า แต่ไม่เป็นดงทึบเหมือนกับดงอื่นๆ

จึงทำให้บริเวณนั้นมีอากาศปลอดโปร่ง

ถ้ำแห่งภูเขาแถวนั้นก็ไม่อับชื้น ทั่วบริเวณจึงเป็นสถานที่ที่จะพึงอาศัยเป็นเวลาแรมปีได้ ถ้าเป็นดงดิบมองไม่เห็นพระอาทิตย์แล้วจะอยู่กันนานไม่ได้ เพราะจะทำให้สุขภาพเสีย

โดยที่ท่านอาจารย์เสาร์ได้เลือกเอาสถานที่แห่งนี้อยู่ถึง 5 ปี และท่านก็ยังมีสุขภาพดีที่เป็นปกติเหมือนกับอยู่ในวัดธรรมดา นับว่าท่านอาจารย์เสาร์มีความรู้ ความชำนาญ ในการอยู่ป่าอย่างยิ่ง

เราได้เดินมองพิเคราะห์ดูแล้วเป็นที่เหมาะสมจริงๆ เพราะมีธารน้ำเล็กๆ ไหลไม่ขาดอยู่ที่ตรงกลางทางที่จะขึ้นถ้ำพอดี

คำว่าภูผากูดคือมีผักกูดขึ้นอยู่ตามตลิ่งธารน้ำนั้นมาก เมื่อผักกูดขึ้นผักที่จะขึ้นตามผักกูดมาก็เช่นผักหนาม ผักเต่าเกียด ในคราวนั้น ท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ทราบว่าท่านอาจารย์มั่นธุดงค์ไปก็ธุดงค์ตามไปติดๆ

แต่พอก่อนจะถึงถ้ำภูผากูดก็ล้มเจ็บเป็นไข้จึงได้เดินทางกลับรักษาตัวที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อหายแล้วก็ได้ติดตามไปเพื่อหวังในการศึกษาปฏิบัติธรรมอีก โดยมิได้มีการย่นย่อท้อถอยแต่ประการใด

ครั้นเมื่อท่านอาจารย์มั่นได้เดินจนกระทั่งถึงและขึ้นไปบนถ้ำภูผากูด เมื่อวางบริขารไว้ส่วนหนึ่งแล้วก็เข้าไปนมัสการท่านอาจารย์เสาร์ ซึ่งท่านอาจารย์เสาร์ได้รู้ล่วงหน้าและเตรียมสถานที่ไว้คอยรับศิษย์รักอันจากกันไปนานอยู่แล้ว ท่านอาจารย์มั่นได้เข้าไปกราบนมัสการ สนทนาปราศรัยตามสมควรแล้วก็ไปพัก ณ บริเวณแห่งหนึ่งตามอัธยาศัย

ท่านอาจารย์มั่นตั้งใจจะจำพรรษา ณ ถ้ำนี้กับท่านอาจารย์เสาร์

ทั้งหมดนี้เป็นสถานการณ์เมื่อปี พ.ศ.2459 เป็นการพบครั้งแรกเมื่อแรกกลับจากมหานครกรุงเทพฯ

การพำนักและจำพรรษาระหว่าง พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล กับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ณ ถ้ำภูผากูด กิ่งอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ทรงความหมายเป็นอย่างสูง

ทรงความหมายทั้งต่อ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และต่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน