คอลัมน์ วิถีแห่งการปฎิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

การสนทนาธรรม ณ ภูผากูด กิ่งอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ระหว่าง พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล กับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อปี พ.ศ.2459

มีความสำคัญ

มีความสำคัญเหมือนการพบกันครั้งแรก ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม กับ พระอาจารย์มั่น ภูริ ทัตโต

มีความสำคัญเหมือนการพบกัน ณ วัดศรีทอง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ระหว่าง พระครูสีทา ชยเสโน กับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ทั้งหมดนี้ล้วนดำเนินไปด้วยท่วงทำนองแห่ง “กัลยาณมิตร”

ประการ 1 เป็นการสรุปบทเรียนจากการปฏิบัติ ปรารภความเพียร ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ขณะเดียวกัน ประการ 1 เป็นการสนทนาเยี่ยงคนที่ “รู้” จักกันและกันอย่างลึกซึ้ง

การถ่ายทอดบทสนทนาอย่างละเอียดที่สุดเท่าที่จะละเอียดได้จึงมีความจำเป็น เหมือนกับความพยายามมาแล้วในการถ่ายทอดกระบวนการปฏิบัติ ปรารภความเพียรหลายครั้งหลายคราของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

รายละเอียดนี้กระบวนการ “ท่านเล่าว่า” ของ พระอาจารย์วิริยังค์ มีคุณูปการ

ในระหว่างพรรษาทั้งศิษย์และอาจารย์ก็ได้ปรึกษาสนทนาในเรื่องธรรมปฏิบัติแทบทุกวัน อยู่มาวันหนึ่ง ท่านอาจารย์มั่น ได้พูดขึ้นว่า

ท่านอาจารย์ได้พิจารณาอริยสัจธรรมหรือไม่

ท่านอาจารย์เสาร์ได้ตอบว่า เราก็พิจารณาเหมือนกัน

ได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง ท่านอาจารย์มั่นถาม

ได้ผลเหมือนกันแต่ไม่ชัดเจน ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ

เพราะเหตุไรบ้างครับ ท่านอาจารย์มั่นถาม

เราได้พยายามอยู่ คือ พยายามคิดถึงความแก่ ความตาย แต่ว่าบางคราวมันก็ไม่แจ่มแจ้ง ท่านอาจารย์เสาร์ตอบ

ถ้าเช่นนั้นคงมีอะไรเป็นเครื่องห่วงหรือกระมัง ท่านอาจารย์มั่นถาม

เราก็พยายามพิจารณาเหมือนกันแต่ก็หาสิ่งขัดข้องไม่ได้ ท่านอาจารย์เสาร์ตอบและกล่าวต่อไปว่า ความจริง ความสว่างของดวงจิตนั้นก็เป็นปกติดีอยู่ แม้มันจะดีบ้างไม่ดีบ้างมันก็เป็นเรื่องธรรมดาของสมาธิ แต่ว่าเมื่อจิตพิจารณาทีไรรู้สึกว่าไม่ก้าวไป

ท่านอาจารย์มั่นจึงกล่าวว่า กระผมคิดว่าคงมีอะไรสักอย่างเป็นเครื่องห่วง

ท่านอาจารย์เสาร์ตอบว่า และเธอรู้ไหมว่าเรามีอะไรเป็นเครื่องห่วง

ท่านอาจารย์มั่นเห็นเป็นโอกาสที่จะได้ถวายความรู้ในครั้งอยู่ถ้ำสาริกาโน้นจึงได้ตอบทันทีว่า ท่านอาจารย์ห่วงเรื่องการปรารถนาเรื่องปัจเจกโพธิกระมัง

ท่านอาจารย์เสาร์ตอบว่า แน่ทีเดียว ในจิตของเราตั้งอยู่ว่าจะขอให้รู้ธรรมเองโดยไม่ต้องมีใครมาแนะหรือบอกให้ และมันก็ตั้งอยู่ในใจของเรามาตลอด

ท่านอาจารย์มั่นจึงขอความกรุณาแล้วบอกท่านอาจารย์เสาร์ว่า ขอให้ท่านอาจารย์อย่าเป็นห่วงเลย ขอให้พิจารณาอริยสัจเพื่อความพ้นทุกข์ตั้งแต่ชาตินี้เถิด เพราะกระผมเองก็ปรารถนาพระโพธิญาณ และกระผมก็ได้ละความปรารถนานั้นแล้วเนื่องด้วยว่าการท่องเที่ยวในสังสารวัฏนี้มันนานเหลือเกิน

ในวันนั้นท่านอาจารย์เสาร์ต้องประหลาดใจที่ศิษย์ของท่านได้ล่วงรู้ถึงความจริงอันปรากฏอยู่ในใจของท่านซึ่งท่านไม่เคยปริปากบอกใครเลย ฉะนั้นจึงทำให้ท่านรู้สึกว่าท่านอาจารย์มั่นนี้ต้องมีความดี ความจริง ความชัดเจนในใจอย่างแน่นอน

ในวันนั้นก็ได้คุยกันเพียงเท่านี้แล้วก็เลิกกันไป

อยู่มาวันหนึ่งท่านอาจารย์เสาร์ได้ไปนั่งอยู่ที่สงัดเฉพาะองค์เดียว เริ่มด้วยการพิจารณาถึงอริยสัจ โดยอุบายอย่างหนึ่ง คือ พิจารณากายจนชัดแจ้ง ประจักษ์เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายขึ้น

และท่านก็เริ่มดำเนินจิต เจริญให้มาก กระทำให้มากจนเป็นญาณ สามารถทวนกระแสมาถึงที่ตั้งของจิตได้

และวันนั้นท่านก็ตัดเสียซึ่งความสงสัยได้อย่างเด็ดขาด

เมื่อได้รับการอธิบายจากท่านอาจารย์มั่นซ้ำอีกว่า เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ควรเจริญให้มากจนกว่าจะพอแก่ความต้องการ

เมื่อจวนถึงกาลปวารณาออกพรรษา ท่านอาจารย์เสาร์ก็ทราบชัดถึงความเป็นจริงทุกประการ และท่านก็บอกแก่ท่านอาจารย์มั่นว่า เราได้เลิกการปรารถนาพระปัจเจกโพธิแล้ว และเราก็ได้เห็นธรรมจริงแล้ว

เป็นอันจบสิ้นสำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน