คอลัมน์ พันธุ์แท้พระเครื่อง

สุดยอดพระเครื่องที่พุทธศาสนิกชนใฝ่หาต้องการมีไว้ครอบครองเป็นเจ้าของ เรียกว่าอยากได้มากถึงมากที่สุด ต้องยกให้พระสมเด็จในเครือของเจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) อันได้แก่ วัดระฆังโฆสิตาราม วัดบางขุนพรหม และวัดเกศไชโย

โดยเฉพาะ “พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม” นับเป็นสุดยอดแห่งพระเครื่องที่พุทธศาสนิกชนใฝ่ฝันหา การทำเทียมหรือล้อเลียนรูปแบบพิมพ์ทรงจึงมีมากมายสุดคณานับ ถึงขนาดมีผู้เคยเปรียบเทียบว่า หากนำพระสมเด็จที่ทำเทียมเลียนแบบหรือล้อพิมพ์การสร้างพระของสมเด็จ (โต) ตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบันทั้งหมดมาเรียงกัน พื้นที่บนท้องสนามหลวงก็ยังไม่เพียงพอที่จะบรรจุพระเทียมดังกล่าวได้หมดสิ้น

การพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามนั้น สำหรับผู้ริเริ่มฝึกหัดการตรวจสอบพระเครื่อง จึงขอแนะนำหลักการเบื้องต้นในการพิจารณาตรวจโดยเฉพาะพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ดังนี้

ในการพิจารณาองค์พระเบื้องต้นจะต้องพิจารณาภาพรวมขององค์พระทั้งหมดก่อนว่าเป็นพิมพ์ใด ซึ่งพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามก็มีอยู่เพียง 4 พิมพ์เท่านั้น คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม และพิมพ์เกศบัวตูม แม้แต่ละพิมพ์จะแยกพิมพ์ย่อยออกไปอีกก็ตาม แต่ “ภาพรวม” จะช่วยให้สามารถเห็นถึง “เอกลักษณ์” ของแม่พิมพ์แต่ละพิมพ์ได้ชัดเจน

เอกลักษณ์หรือศิลปะของแม่พิมพ์ ที่ใช้เป็นแม่แบบในการพิมพ์องค์พระโดยเฉพาะพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามนั้น จำเป็นจะต้องยึดแม่พิมพ์เป็นหลัก ภาษานักเลงพระเขาเรียกกันว่า “ดูพิมพ์ไม่ดูเนื้อ” เหตุที่ต้องให้ความสำคัญกับแม่พิมพ์ก็เพราะในการสร้างพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามการแกะสลักแม่พิมพ์ถือว่าเป็นศิลปะเฉพาะตัวขององค์พระ การทำเทียมเลียนแบบพิมพ์ดั้งเดิมนั้นจะทำได้โดยการแกะแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะไม่มีทางแกะแม่พิมพ์เดิมได้เลย และอีกวิธีหนึ่งคือการถอดพิมพ์จากองค์พระแท้ซึ่งจะมีลักษณะหดเล็กและไม่คมชัด ถ้าหากใช้ความสังเกตแล้วจะสามารถพบเห็นได้โดยง่าย

ย้อนกลับมาถึงการพิจารณาตรวจสอบเอกลักษณ์ของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ เบื้องต้น ก่อนอื่นเมื่อมองภาพรวมแล้วจะพบว่า องค์พระที่ประดิษฐานอยู่กลางซุ้มครอบแก้วจะมีลักษณะใหญ่โต สง่างาม ประหนึ่งพระประธานที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์และวิหารของวัดต่างๆ คือมักจะอยู่ ณ จุดศูนย์กลางของโบสถ์

ส่วนองค์ประกอบอื่นๆ จะเป็นเพียงเครื่องเสริมความสง่างามและความอลังการขององค์พระเท่านั้น เช่นเดียวกับองค์พระของพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ ซึ่งถูกเรียกว่า “พิมพ์พระประธาน” สาเหตุนอกจากการที่เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านจำลองมาจากพระประธานของวัดระฆังฯ แล้ว หากพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าทั้งซุ้มครอบแก้ว และฐานทั้ง 3 ชั้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เสริมให้องค์พระสมบูรณ์มากขึ้นเท่านั้น ในส่วนองค์พระเองมีความสง่างามอยู่ในตัวและเป็นจุดศูนย์กลางสายตาทั้งหมดอันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปะพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่

เมื่อได้ลักษณะภาพรวมแม่พิมพ์ใหญ่แล้วควรจดจำให้ได้ว่า พิมพ์ใหญ่แยกออกเป็นอีก 4 พิมพ์ คือ พิมพ์มีเส้นแซมใต้หน้าตัก พิมพ์อกตัววี พิมพ์อกกระบอก และพิมพ์เกศทะลุซุ้ม ทั้ง 4 พิมพ์นี้มีเอกลักษณ์แม่พิมพ์เช่นเดียวกันอันเป็นหลักเบื้องต้นแห่งการตรวจสอบองค์พระ ที่เพียงใช้ความสังเกตด้วยตาเปล่าก็สามารถพบได้ดังนี้

-ด้านซ้ายขององค์พระจะมีจุดบรรจบของซุ้มครอบแก้วกับเส้นขอบแม่พิมพ์ ซึ่งจะมาบรรจบกันบริเวณช่วงข้อ ลำแขน ข้อศอก ขององค์พระเท่านั้น

– หัวไหล่ด้านซ้ายขององค์พระจะเล็กและบางกว่าเนื้อหัวไหล่ด้านขวาขององค์พระ

– หากตะแคงดูจะพบว่าพื้นราบภายในซุ้มครอบแก้วจะต่ำกว่าพื้นนอกซุ้มครอบแก้วเล็กน้อย

– เมื่อพลิกด้านหลังขององค์พระจะต้อง มีลักษณะเฉพาะขององค์พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ ซึ่งได้แก่ หลังสังขยา หลังกาบหมาก หลังกระดาน และหลังแผ่นเรียบ สำหรับด้านหลังขององค์พระที่จะต้องใช้ความสังเกตมากขึ้นก็คือ “หลังแผ่นเรียบ” ซึ่งต้องตรวจสอบดูรอยปูไต่อันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของพระสมเด็จ

นอกจากนี้ ยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาให้ลึกซึ้งลงไปอีกเกี่ยวกับ “ตำหนิแม่พิมพ์” ขององค์พระ เช่น ลักษณะการหันพระพักตร์และลำพระองค์ ความสูงต่ำของฐานทั้งซ้ายขวาซึ่งจะไม่เท่ากัน ลักษณะของซุ้มครอบแก้ว ชายจีวร ฯลฯ

หลักเบื้องต้นนี้คงจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ ที่ใช้เป็นหลักในการพิจารณาเบื้องต้นได้พอสมควรครับผม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน