คอลัมน์ วิถีแห่งการปฏิบัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

เสถียร จันทิมาธร

จากนี้จึงเห็นได้ว่าการกำหนดระเบียบแห่งสำนักปฏิบัติตามแนวทางของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นั้นมีรากที่มาจาก 2 กระบวนการอันสำคัญ

กระบวนการ 1 มาจากปฏิปทาของตัว พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เอง

ขณะเดียวกัน กระบวนการ 1 มาจากปฏิสัมพันธ์ระหว่าง พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต กับ ศิษยานุศิษย์

ปฏิปทาของตัว พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต นั้นมาจากพื้นนิสัยโดยตรง

ชีวประวัติ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต สำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ กล่าวเน้นอย่างหนักแน่นจริงจัง

“ท่านได้ยืนยันถึงการที่ได้ปฏิบัติมาและแนะนำมาก่อนแล้วเป็นทางดำเนินถูกต้องแล้ว เพราะเมื่อดำเนินมาเกิดผลสมความตั้งใจแล้ว คือ การปฏิบัติตามอริยสัจธรรม นับแต่พระบรมศาสดาและพระสาวกทั้งหลาย ผู้ที่จะผ่านเข้าสู่พระอริยสัจจะนั้นจะไม่พิจารณากายไม่มีเลย”

นี่ย่อมเป็นประสบการณ์ “ตรง” ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เอง

รากที่มาในการกำหนดระเบียบของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในเรื่องหลักการ แนวทาง นอกจากมาจากประสบการณ์ตรงแล้ว อีกทางหนึ่ง เป็นความเข้าใจจากการคลุกคลี ทำงานทางความคิดร่วมกับศิษยานุศิษย์

ตรงนี้สัมผัสได้ผ่านสมาธิในค่ำคืนหนึ่งของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

ถึงแม้จะเป็นสมาธิ ณ ค่ำคืนหนึ่ง กระนั้น ภาพที่ปรากฏขณะนั้นเป็นเวลาเช้า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้พาพระภิกษุ สามเณร จำนวนมาก เข้าไปบิณฑบาตในละแวกบ้าน

ปรากฏนิมิตภายในสมาธิเป็นที่น่าประหลาดใจ

“คือพระภิกษุ สามเณรที่ตามเรามาดีๆ ก็เกิดมีพวกหนึ่งแซงซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ขึ้นหน้าเราไป บางพวกก็เลยเดินออกไปนอกทางเสีย และก็มีอีกพวกหนึ่งที่เดินตามเราไป”

นิมิตนี้ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มิได้ปิดบังหากเล่าบอกบรรดาศิษย์พร้อมอธิบาย

ที่มีพระภิกษุ สามเณรแซงขึ้นไปข้างหน้านั้น คือ บางพวกจะพากันอวดตัวว่าเก่งว่าดีแล้ว ก็จะละจากข้อปฏิบัติที่ได้พาดำเนิน ครั้นแล้วก็จะเกิดความเสื่อมเสีย ไม่ได้ผลตามที่เคยได้ผลมาแล้ว เขาเหล่านั้นก็จะอ้างว่าเป็นศิษย์ แต่ที่ไหนได้พากันหลีกเลี่ยงการปฏิบัติต่างๆ ที่กำหนดให้ไว้

จำพวกหนึ่งเดินออกนอกทาง คือ จำพวกนี้เพียงแต่ได้ยินกิตติศัพท์แล้วก็อ้างว่าเป็นศิษย์ บางทียังไม่เคยเห็นหน้าเสียด้วยซ้ำ หาได้รู้อุบายแยบคายในการปฏิบัติแต่อย่างใด หรือพวกที่เคยอยู่แต่เมื่ออยู่ก็เคร่งครัดเพราะกลัว แต่พอออกจากไปแล้วก็ไม่นำพาในข้อธรรมและการปฏิบัติ

จำพวกหนึ่งที่เดินตามหลังไปเป็นผู้ดำเนินตามคำแนะนำทั้งภายนอกและภายใน เป็นผู้ใคร่ต่อธรรม ต้องการพ้นทุกข์ในวัฏสงสาร พยายามศึกษาหาความรู้ทุกๆ ประการ ต่อหน้าหรือลับหลังก็เหมือนกัน

หลักการ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต หนึ่งซึ่งปรากฏผ่านสำนวนเขียน พระอาจารย์วิริยังค์ คือ

นอกจากการที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้เน้นหนักในเรื่องการรักษาแผนการสอนและแนวทางด้านการปฏิบัติของพระภิกษุ สามเณรแล้ว ทางฆราวาสท่านเน้นหนักการเชื่อถือ

เพราะปรากฏว่า พุทธบริษัทบางจำพวกพากันไปนิยมนับถือในสิ่งที่ผิดเสียมาก

เช่น นับถือภูตผีปีศาจ นับถือศาลเจ้าที่ นับถือการเข้าทรง นับถือเทพเจ้าต่างๆ นับถือศาลพระภูมิ นับถือต้นไม้ใหญ่ นับถืออารามเก่าแก่

การนับถือสิ่งเหล่านี้ผิดจากคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยแท้ เพราะเมื่อไปนับถือสิ่งเหล่านี้เข้าก็เท่ากับเป็นผู้อ่อนการศึกษามากหรือขาดปัญญาในพระพุทธศาสนา เขาเหล่านั้นได้ปฏิญาณตนว่าได้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้ว กลับมีจิตใจกลับกลอกหลอกหลอนตนเอง

ไม่นับถือจริง เพราะถ้านับถือจริงก็ต้องไม่นับถือสิ่งที่งมงายที่พระพุทธองค์ทรงตำหนิแล้ว

ดังนั้น จึงปรากฏในภายหลังว่า ภิกษุผู้เป็นชั้นหัวหน้าผู้ที่ได้รับการอบรมจากท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้วจะต้องรู้จักวิธีการแก้ไขผู้นับถือผิดเกี่ยวกับภูตผีปีศาจ เป็นต้น ได้ทุกองค์ ถ้าแก้สิ่งเหล่านี้ไม่เป็น หรือพลอยนับถือไปกับเขาเสียเลย

ก็จะรู้ได้ทันทีว่า ไม่ใช่ศิษย์ท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แน่นอน

น่าสนใจก็ตรงที่แนวทางความเชื่อมั่นเช่นนี้มิได้หมายความว่าเป็นการปฏิเสธต่อการดำรงอยู่ในความเชื่อเรื่องภูตผีปีศาจอย่างสิ้นเชิง

ตรงกันข้าม เป็นความไม่เชื่อมั่นบนพื้นฐานความเชื่อในเรื่องผี

ขณะเดียวกัน ประสบการณ์นี้สัมผัสได้จากเมื่อ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านค้อ จังหวัดนครพนม หนที่ 2 เมื่อปีพ.ศ.2467

เป็นประสบการณ์ร่วมกับสิ่งที่เรียกว่าผี ณ ภูเขาลูกหนึ่งมีลักษณะเหมือนตึกหลายๆ ชั้น

เป็นประสบการณ์อันแปลกออกไปจากประสบการณ์ส่วนใหญ่ที่ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้พบมากับตนเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน