พระราชกรณียกิจ ในวันที่ 8 แห่งการทรงผนวช

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม 2499

เวลา 06.00 น. ตื่นพระบรรทม

เวลา 06.50-07.30 น. เสวยพระ กระยาหารเช้า
1
เวลา 08.05-08.40 น. เสด็จฯ วังสระปทุม เพื่อทรงรับบาตร ซึ่งสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระพี่นาง และเจ้านายชั้นหม่อมเจ้า เช่น หม่อมเจ้าอัจฉราฉวี หม่อมเจ้าอภิรมย์ หม่อมเจ้าสุภาภรณ์ ท่านหญิงสุรางค์ศรี หม่อมเจ้าอลิซาเบธ ในกรมพระยาชัยนาทฯ และอื่นๆ คอยถวายบิณฑบาตอยู่

เสด็จฯ ถึงวังสระปทุม เสด็จฯ เข้าไปรอในห้องรับแขก ทรงยืนคอยพระสงฆ์อื่นๆ แล้วจึงเสด็จพระราชดำเนินออกทรงรับบาตร วันนี้ฝนตกแต่ 08.00 น. และลงพรำๆ อยู่ เลยต้องทรงรับภายในพระตำหนัก ทรงรับแล้ว เสด็จฯ เข้าไปประทับพระเก้าอี้ ทรงอุ้มบาตรไว้ เมื่อพระภิกษุอื่นๆ รับบาตรหมดแล้วจึงเสด็จฯ กลับทรง มีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระพี่นาง ในระหว่างประทับพักที่พระเก้าอี้

เวลา 10.50-12.00 น. เสวยพระกระยาหารเพล

เวลา 10.55-12.00 น. สมเด็จพระราชชนนี เสด็จมาเฝ้าฯ

เวลา 12.40-14.40 น. ทรงพัก

เวลา 16.00-16.20 น. เสด็จฯ ลงพระตำหนักเพ็ชร โปรดให้ พระเถรานุเถระ (ชั้นราชขึ้นไปและบรรพชิต จีน ญวน เฝ้าฯ ถวายอนุโมทนาและถวายพระพร พิธีการมีดังนี้

เสด็จฯ ถึงทรงคมพระรูปสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงคมพระเถระแล้วประทับพระเก้าอี้หน้าพระแท่นสมเด็จพระมหา สมณเจ้าฯ สมเด็จพระวันรัต อ่านคำทูลในนามพระเถรานุเถระ และบรรพชิต จีน ญวน แล้วถวายดอกไม้ธูปเทียน มีพระราชดำรัสตอบ แล้วเสด็จพระราชดำเนินลงประทับฉายพระบรมรูปร่วมกับพระเถรานุเถระหน้าพระตำหนักเพ็ชร แล้วเสด็จขึ้น
2
เวลา 07.05-17.55 น. เสด็จฯ ลงพระอุโบสถทำวัตรเย็น ทรงสดับ เรื่อง “ศาสนากับคน” ซึ่ง พระมหาบุญธรรม อ่านถวาย

เวลา 18.35-19.30 น. พระพรหมมุนี ขึ้นถวายธรรมะ เรื่อง “การใช้ปัญญา” ทรงสนทนาธรรมเรื่อง สัจจะ และเรื่องสังขาร

พระราชปุจฉา ขณะที่ทรงผนวชอยู่นี้ เรียกกันว่า “พระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยที่ทรงดำรงฐานะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็ยังมีอยู่ เป็นเพียงแต่ทรงจีวรเช่นภิกษุเท่านั้น ขอความเห็นจากพระพรหมมุนี

พระพรหมมุนีถวายว่า เรื่องนี้ทางธรรมะเรียกว่า สมมติซ้อนสมมติ สมมติเทพนั้น ในการเช่นนี้ผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติให้เหมาะสมกับสมมตินั้นๆ เช่น เมื่อได้รับสมมติเป็นพระภิกษุแล้วก็ต้องปฏิบัติตามสิกขาบทของพระภิกษุโดยเคร่งครัด จักปฏิบัติแต่หน้าที่สมมติเทพอย่างเดียวไม่ได้ แต่ถ้าหน้าที่ของสมมติเทพที่ไม่ขัดกับสิกขาบทวินัยก็อาศัยได้ เช่นคำที่เรียกว่า “เสวย สรง บรรทม” เป็นต้น ยังใช้ได้

สัจจะ คือ ความจริง นั้น ตามที่ท่านอธิบายกันมีหลายอย่าง แต่เมื่อกล่าวโดยหลักธรรมก็มี 2 อย่าง คือ

1.สมมติสัจจะ จริงโดยสมมติยกย่องขึ้น ให้เป็นอย่างนั้นให้เป็นอย่างนี้ เช่น สมมติให้เป็นเทวดา สมมติให้เป็นพระอินทร์ พระพรหม ผู้นั้นก็เป็นตามเขาสมมติเพียงแต่ชื่อ แต่ไม่ได้เป็นจริงไปเช่นนั้นด้วย เช่น เขาสมมติให้เป็นพระอินทร์ ชื่อพระอินทร์ ก็มีอยู่แก่ผู้นั้น แต่ผู้นั้นไม่ใช่พระอินทร์ตัวเขียวไปด้วยเขาสมมติให้เป็นพระนารายณ์ ชื่อนารายณ์ก็มีอยู่แก่ผู้นั้น แต่ผู้นั้นหาได้เป็นพระนารายณ์ตัวจริง มี 4 กรไม่

2.สภาวสัจจะ จริงตามสภาวะเป็นอย่างไรก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เป็นดินก็ดินจริง เป็นน้ำก็เป็นน้ำจริง เป็นไฟก็เป็นไฟจริง เป็นลมก็เป็นลมจริง เป็นทุกข์ก็เป็นทุกข์จริง เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์จริง เป็นความดับทุกข์ก็เป็นความดับทุกข์จริง เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์ก็เป็นทางให้ถึงความดับทุกข์จริง อย่างนี้เป็นจริงตามสภาวะ ท่านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ปรมัตถสัจจะ

เมื่อพิจารณาดูแล้วเป็นชั้นของสัจจะไปแล้ว ไม่ใช่ตัวสัจจะ เพราะปรมัตถสัจจะ แยกออกเป็น ปรมะ-อย่างยิ่ง อัตถะ-ประโยชน์ สัจจะ-ความจริง รวมกันแปลว่า ความจริงเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เมื่อมีความจริงที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งก็ย่อมส่องความว่า ความจริงที่ไม่เป็นประโยชน์ก็มี ความจริงที่เป็นประโยชน์ก็มี จึงได้ชั้น ดังนี้

1.ปรมัตถสัจจะ ความจริงที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

2.อัตถสัจจะ ความจริงที่เป็นประโยชน์อย่างสามัญ

3.อนัตถสัจจะ ความจริงที่ไม่เป็นประโยชน์

ญาณที่เห็นอริยสัจ 4 นั้น เป็นประโยชน์อย่างยิ่งของบุคคล เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ

ญาณรู้เหตุรู้ผลสามัญ หลบจากเหตุที่เสื่อม บำเพ็ญเหตุที่เจริญ นี่เป็น อัตถสัจจะ

ญาณที่เห็นผิดจากความจริง นี่เป็น อนัตถสัจจะ บุคคลผู้ปฏิบัติต้องละอนัตถสัจจะ บำเพ็ญแต่อัตถสัจจะ และปรมัตถสัจจะ

สังขาร สังขารแบ่งออกดังนี้ คือ

1.สังขารส่วนเหตุ ที่กำลังปรุง เรียกว่า สังขารขันธ์

2.สังขารส่วนผล ที่ปรุงแต่งเสร็จแล้ว เรียกว่า รูปขันธ์

ในทางที่ดี เราใช้สังขารให้เป็นประโยชน์ สังขารย่อมปรุงมรรค ปรุงผล

ในทางที่เลว สังขารใช้เรา เราเป็นทาสของสังขาร ย่อมเป็นอันตรายถึงความพินาศ (ดูอธิบายในเรื่อง “สังขาร” โดยละเอียด วันที่ 30 ต.ค.2499)

พระราชปุจฉา คนที่มีใจเหี้ยม ฆ่าคนแล้วไม่รู้สึกอะไรนั้น จัดเป็น บุคคลประเภทไหน

ทำไมบางคนสร้างกรรมในชาตินี้ไว้มาก จึงยังไม่ได้รับผลของกรรมนั้น กลับเจริญมีความสุขอยู่ได้

พระพรหมมุนีถวายว่า ที่เขายังมีความเจริญและความสุขอยู่ ก็เพราะกรรมชั่วที่ทำนั้นยังไม่ให้ผล ถึงกระนั้นบุคคลผู้ทำกรรมชั่วย่อมจะได้รับความเดือดร้อนใจในภายหลังที่เรียกว่า ?วิปฏิสาร? บางกรณีก็อาศัยผลของกรรมที่สร้างมาแต่ปางก่อน ประกอบการ กระทำซึ่งประกอบด้วย สติ ปัญญา วิริยะ เมื่อดีก็ดีเลิศ เลวก็เลวที่สุด ก็เพราะปัญญาของเขาเหล่านั้น

พระราชปุจฉา ทำอย่างไรจะระลึกได้ซึ่งชาติก่อนและชาติหน้าจะต้องบำเพ็ญตนเองให้สูงขึ้นในการปฏิบัติธรรมและอบรมจิตของตนเองให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับไป เช่น เด็กๆ ระลึกหรือจำวันก่อนไปไม่ได้ ครั้นเจริญวัยก็จำเหตุการณ์ได้บ้าง และเห็นกาล ในอนาคตบ้าง เมื่อเจริญเต็มที่แล้ว ก็เห็นทั้งเหตุในอดีตและอนาคตอันไกล

เวลา 20.15 น. เสด็จฯ ขึ้นนมัสการพระ

เวลา 21.05 น. เข้าที่พระบรรทม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน