“แทน ท่าพระจันทร์”

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่านที่รักทุกท่าน พระเกจิอาจารย์ที่ทางชาวสุราษฎร์เคารพนับถือมากรูปหนึ่งก็คือ หลวงพ่อเพชร วัดวชิรประดิษฐ์ เหรียญรูปท่านรุ่นแรกหายากมากและสนนราคาสูง

หลวงพ่อเพชร เกิดที่บ้านประตูไชยเหนือ ต.ท่าวัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โยมบิดาชื่อนายขาว โยมมารดาชื่อนางกิมล้วน เกิดเมื่อปี พ.ศ.2395 เมื่ออายุได้ 8 ขวบ บิดามารดาได้นำท่านไปฝากเรียนในสำนักของท่านพระครูการาม(จู) วัดมเหยงค์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

พออายุได้ 13 ปี จึงได้ขอลาอาจารย์มาอาศัยอยู่ที่บ้านพระสิริธรรมบริรักษ์ เจ้าเมืองนคร ศรีธรรมราช ในขณะที่อาศัยอยู่กับพระสิริธรรมบริรักษ์ ก็ได้ช่วยกิจการหลายอย่าง และภารกิจหนึ่งที่สำคัญก็คือครั้งหนึ่งเกิดคนจีนยึดเมืองไทรบุรี ซึ่งเป็นหัวเมืองของไทยตอนใต้ ท่านเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชทราบข่าว จึงได้ส่งท่านพร้อมพรรคพวกจำนวนหนึ่งไปปราบ จนกระทั่งได้รับชัยชนะ

ต่อมาเมื่ออายุได้ 30 ปี บิดามารดาถึงแก่กรรม ท่านจึงได้ลาออกจากบ้านพระสิริธรรมบริรักษ์กลับมาประกอบอาชีพอยู่ที่บ้าน และได้มีโอกาสไปศึกษาเล่าเรียนกับพระอาจารย์ในด้านวิทยาคมอยู่ยงคงกระพันและอื่นๆ ครั้นอายุได้ 42 ปี ท่านเกิดความเบื่อหน่ายจึงออกเดินทางเพื่อจะไปเยี่ยมน้องชายที่อยู่ที่กรุงเทพฯ

แต่เดินทางมาถึงแค่บ้านดอน อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ก็เกิดอาการเจ็บป่วยเสียก่อน จึงไม่สามารถเดินทางต่อได้ ได้เข้าไปพักอาศัยและรักษาตัวกับพระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดไทร จนกระทั่งหายป่วย ท่านเกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดกลางบ้านดอน

โดยมี พระครูสุวรรณรังสี(มี) เจ้าอาวาสวัดกลาง อ.เมือง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระใบฎีกากล่อม วัดโพธิ์ไทรงาม(วัดโพธาวาส ปัจจุบัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการแดง เจ้าอาวาสวัดไทร เป็นพระ อนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อินทโชติ” และได้ศึกษาพระธรรมวินัยกับพระอธิการแดงเป็นเวลา 2 พรรษา

ในปี พ.ศ.2442 ชาวบ้านเฉงอะ เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในวัตรปฏิบัติของท่าน จึงได้พากันมานิมนต์หลวงพ่อเพชรไปจำพรรษาอยู่ที่วัดดอนตะเคียน(วัดวชิรประดิษฐ์ ในปัจจุบัน) เมื่อหลวงพ่อเพชรได้มาอยู่จำพรรษาที่วัดดอนตะเคียน ท่านก็ได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดจนเจริญรุ่งเรืองจนทุกวันนี้ ชาวบ้านก็เคารพเลื่อมใสศรัทธาในตัวหลวงพ่อเพชรมาก

ต่อมาในปี พ.ศ.2448 ทางวัดก็ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้มีฐานะเป็นวัดโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีชื่อว่า “วัดวชิรประดิษฐ์” และหลวงพ่อเพชรก็ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดวชิรประดิษฐ์ หลวงพ่อเพชรสร้างพระอุโบสถได้สำเร็จในปีเดียวกัน ในปี พ.ศ.2453 ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์และเจ้าคณะแขวงกาญจนดิษฐ์ พ.ศ.2461 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณ ศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ “พระครูประกาศิตธรรมคุณ”

หลวงพ่อเพชรเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตร โอบอ้อมอารี มีเมตตาธรรมสูง ช่วยเหลือชาวบ้านและประชาชนโดยทั่วไป ไม่เลือกชั้นวรรณะ และเป็นคนพูดจริงทำจริง มีวาจาสิทธิ์ เป็นที่รักเคารพของชาวสุราษฎร์ธานีและชาวใต้เป็นอย่างมาก หลวงพ่อเพชรมรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2480 สิริอายุได้ 85 ปี พรรษาที่ 42 คณะศิษย์ได้บำเพ็ญกุศล 3 วัน และเก็บศพไว้จนถึงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2481 จึงได้จัดให้มีการพระราชทานเพลิง ที่วัดวชิรประดิษฐ์

เหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อเพชร เท่าที่พบเป็นเหรียญเนื้ออัลปาก้า และเป็นเหรียญนิยมของชาวใต้ หายากในปัจจุบัน และมีราคาสูงครับ ในวันนี้ผมได้นำรูปเหรียญรุ่นแรกของหลวงพ่อเพชร มาให้ชมครับ

ด้วยความจริงใจ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน