“หลวงปู่ท่อน ญาณธโร” หรือ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ” พระเถราจารย์สาย กัมมัฏฐาน ที่มีความเชี่ยวชาญด้านจิตตภาวนาและวิทยาคมอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ

อีกทั้งยังเป็นพระนักเทศน์ เป็นที่รู้จักทั่วไป โดยเฉพาะภาคกลาง-อีสาน

ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดศรีอภัยวัน ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย

มีนามเดิม ท่อน ประเสริฐพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2471 ที่บ้านหินขาว ต.สาวะถี อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ช่วงวัยหนุ่มฉกรรจ์ เป็นคนติดเพื่อนฝูง กินเหล้าเมายา ทำให้บิดา-มารดา เป็นกังวลใจมาก จึงนำตัวไปฝากกับหลวงปู่คำดี ปภาโส พระเกจิชื่อดังแห่งวัดป่าชัยวัน จ.ขอนแก่น แต่หลวงปู่คำดี มีข้อแม้ว่า ก่อนบวชจะต้องรักษาศีล นุ่งห่มขาว เจริญภาวนา กินข้าวมื้อเดียวก่อน

ครั้นอยู่ทดสอบจิตใจได้ 5 เดือน จึงอนุญาตให้เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2491 ที่พัทธสีมา วัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น มีพระครูพิศาลสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูคัมภีรนิเทศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมหาสุพจน์ อุตตโม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

หลังอุปสมบท เดินทางไปอยู่ที่วัดป่าชัยวัน ซึ่งหลวงปู่ คำดี เป็นอาจารย์กัมมัฏฐาน คอยสอนให้ทำภาวนานั่งสมาธิกัมมัฏฐาน เน้นเรื่องสติ สมาธิ และปัญญา

ระยะเวลาผ่านไปนานพอสมควร ท่านได้ช่วยครูบาอาจารย์ แบ่งเบาภาระในการสอนคนที่จะมาบวช ด้วยการสอนขานนาค เป็นต้น ครั้นถึงช่วงออกพรรษา ได้เป็นหัวหน้าเดินธุดงค์เข้าป่าเป็นกิจวัตร

ครั้งหนึ่งท่านมีโอกาสพบหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต บูรพาจารย์สายพระป่า และได้รับโอวาทอันทรงคุณค่าให้เร่งทำความเพียร มิให้ประมาท ชีวิตนี้อยู่ได้ไม่นานก็ต้องตาย

นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสไปกราบเยี่ยมครูบาอาจารย์หลายท่าน อาทิ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม, หลวงปู่หลุย จันทสาโร, หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี, หลวงพ่อมหาปิ่น ชลิโต เป็นต้น

หลังจากช่วยงานการครูบาอาจารย์เสร็จสิ้น หลวงปู่คำดี นำหมู่คณะออกวิเวกไปทาง จ.เลย ตอนนั้นบวชได้ 7 พรรษาแล้ว

พ.ศ.2497 หลวงปู่คำดีนำคณะเข้าป่าและถ้ำต่างๆ ภาวนาทำความเพียร ญาติโยมมาฟังธรรมะ และในพรรษานี้ หลวงปู่ท่อนอยู่จำพรรษาที่วัดถ้ำผาปู่ด้วย

อยู่ที่วัดถ้ำผาปู่ได้ 2 พรรษา มีญาติโยมมาขอให้ไปโปรดที่วัดถ้ำตีนผา อ.เชียงคาน 1 พรรษา ต่อมาหลวงปู่คำดีเกิดอาพาธเจ็บป่วยด้วยโรคชรา จึงกลับมาเยี่ยมและช่วยสร้างวัดถ้ำผาปู่ไปด้วย จวบกระทั่งหลวงปู่คำดีมรณภาพอย่างสงบ

พ.ศ.2500 ญาติโยมได้นิมนต์ให้ไปอยู่ที่ป่าช้านาโป่ง และสร้างเป็นวัดศรีอภัยวัน ในเนื้อที่ประมาณ 40 ไร่ รวมทั้งรักษาความเป็นป่าอย่างสมบูรณ์ไว้

เนื่องจากเป็นพระป่า ที่วัดจึงไม่มีสิ่งก่อสร้างใหญ่โต กุฏิเป็นเพียงกุฏิเล็กๆ ปัจจัยที่ได้รับแบ่งเอาไว้ใช้เท่าที่จำเป็น ส่วนใหญ่จะแบ่งปันให้แก่วัดที่ขาดแคลนหรือทุรกันดาร

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2503 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีอภัยวัน พ.ศ.2526 เป็นเจ้าคณะอำเภอเชียงคาน-ภูเรือ (ธ) พ.ศ.2532 เป็นเจ้าคณะอำเภอเชียงคาน-ปากชม (ธ) พ.ศ.2550 เป็นเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธ)

พ.ศ.2555 ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธ)

ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2514 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี ที่พระครูญาณธราภิรัติ พ.ศ.2527 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกในราชทินนามเดิม พ.ศ.2531 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2535 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครบ 5 รอบ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระญาณทีปาจารย์ เป็นกรณีพิเศษ

พ.ศ.2550 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชญาณวิสุทธิโสภณ”

อย่างไรก็ตาม เมื่อย่างเข้าวัยชรา หลวงปู่ท่อนได้อาพาธด้วยโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้หลวงปู่เกิดอาการวิงเวียนหน้ามืดเป็นประจำ ส่งผลให้หลวงปู่ท่อนต้องเดินทางเข้าไปตรวจเช็กสุขภาพที่ ร.พ.วิชัยยุทธ อย่างสม่ำเสมอ

ท้ายที่สุดละสังขารอย่างสงบ เมื่อวันที่ 7 เม.ย.2561 เวลา 16.46 น ที่ร.พ.วิชัยยุทธ กรุงเทพฯ

สิริอายุ 90 ปี พรรษา 70

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน