วัตถุมงคลฉลอง 100 ปี วัดมกุฏกษัตริยาราม (ตอนที่ 2)

 

พระกริ่งวชิรมงกุฎ พุทธลักษณะเป็นศิลปะประยุกต์ ผสมผสานระหว่างศิลปะไทยและอินเดีย มีทั้งปางมารวิชัยและปางประทานพร แบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ

%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%81%e0%b8%a3%e0%b8%b4%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%a7%e0%b8%8a%e0%b8%b4%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b8%8e-%e0%b8%9e%e0%b8%b4%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b9%8c

1.พระกริ่งวชิรมงกุฎ พิมพ์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 2 เซนติเมตร ปางมารวิชัย (คว่ำพระหัตถ์ขวา) จัดสร้างเป็นเนื้อนวโลหะ พระหัตถ์ซ้ายทรงถือครอบน้ำพระพุทธมนต์ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรบนฐานบัวคว่ำ ด้านหลังมีตรามงกุฎบนพานแว่นฟ้าและแวดล้อมด้วยฉัตรเครื่องสูง 5 ชั้น สองข้าง ใต้ฐานเป็นแผ่นทองแดงปิด โดยแผ่นทองแดงจะปั๊มเป็นลวดลายเป็นพระเศวตฉัตร 3 ชั้น (พระฐานันดรศักดิ์ สมเด็จพระสังฆราช) มีตัวอุอยู่ใต้พระเศวตฉัตร 3 ชั้น ถัดลงมามีตัวอักษรไทยเป็นภาษาบาลีมีข้อความว่า “มกุฏขตฺติยารามสฺส วสฺสสตํ” (อ่านว่า มะกุฏขัตติยารามัสสะวัสสะสะตัง) อันมีความหมายว่า “ครบ 100 ปี วัดมกุฏกษัตริยาราม” และมีตัวเลขตอกลำดับองค์พระอีกด้วย จัดสร้างเพื่อเป็นที่ระลึกงานฉลองวัดมกุฏกษัตริยาราม ครบ 100 ปี และฉลองพระชนมายุครบ 70 พรรษา ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (จวน)

2.พระกริ่งวชิรมงกุฎ พิมพ์เล็ก ขนาดหน้าตักกว้าง 1.8 เซนติเมตร ปางประทานพร (หงายพระหัตถ์ขวา) ลักษณะเหมือนดังพระกริ่งพิมพ์ใหญ่ทุกประการ วัตถุประสงค์การจัดสร้างเช่นเดียวกันกับพิมพ์ใหญ่ จัดสร้างเป็นเนื้อทองคำและนวโลหะ

3.พระกริ่งวชิรมงกุฎ พิมพ์พิเศษ (พิมพ์กรรมการ) หน้าตักกว้าง 1.4 เซนติเมตร ปางประทานพร จัดสร้างเป็นเนื้อทองคำและนวโลหะ ลักษณะเหมือนดังพระกริ่งพิมพ์ใหญ่และพิมพ์เล็ก แต่ไม่มีหมายเลขลำดับองค์พระตอกที่ใต้ฐาน วัตถุประสงค์ในการจัดสร้างพระกริ่งพิมพ์พิเศษเพื่อสมนาคุณแก่ผู้มีส่วนช่วยในงานพุทธาภิเษกพระพุทธรูป-พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์วชิรมงกุฎ

ส่วน พระชัยวัฒน์วชิรมงกุฎ มีขนาดหน้าตักกว้าง 1 เซนติเมตร ปางประทานพร เป็นพระชัยวัฒน์ ชุดที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (จวน) เสด็จทรงเททองเป็นปฐมฤกษ์ในพิธีพุทธาภิเษกครั้งที่ 2 ดังได้กล่าวรายละเอียดไว้แล้ว สร้างด้วยเนื้อทองคำและนวโลหะ ไม่ทราบจำนวนสร้าง

%e0%b8%9e%e0%b8%a3%e0%b8%b0%e0%b8%8a%e0%b8%b1%e0%b8%a2%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%92%e0%b8%99%e0%b9%8c%e0%b8%a7%e0%b8%8a%e0%b8%b4%e0%b8%a3%e0%b8%a1%e0%b8%87%e0%b8%81%e0%b8%b8%e0%b8%8f2511

คณะกรรมการจัดสร้างได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ณ พระวิหารวัดมกุฏกษัตริยาราม โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จฯ ประกอบพิธีเททองหล่อพระพุทธวชิรมงกุฎและพระกริ่งวชิรมงกุฎ เป็นปฐมฤกษ์ เมื่อวันอังคารที่ 31 ตุลาคม 2510

โดยมีพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณนั่งปรกเจริญภาวนาอธิษฐานจิต เช่น หลวงปู่เฮี้ยง วัดอรัญญิการาม (วัดป่า) หลวงปู่นาค วัดระฆัง หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม พระอาจารย์ฝั้น วัดป่าอุดมสมพร พระอาจารย์นอง วัดทรายขาว พระอาจารย์ทิม วัดช้างให้ เป็นต้น

พิธีพุทธาภิเษกโลหะและเสด็จพระราชดำเนินการเททองหล่อเป็นปฐมฤกษ์ มีการจัดสร้างพระพุทธวชิรมงกุฎ และพระกริ่งวชิรมงกุฎ เพียงเท่านั้น

ส่วน พระชัยวัฒน์วชิรมงกุฎ จัดสร้างเป็นลำดับถัดมาในพิธี พุทธาภิเษกโลหะและเททองครั้งที่ 2 โดยสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน) เสด็จทรงเป็นประธานในการเททองหล่อด้วยพระองค์เอง

พิธีเททองครั้งที่ 2 จัดประกอบพิธีพุทธาภิเษกโลหะในพระวิหารวัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (จวน) ทรงจุดเทียนชัยในเวลา 15.21 น. วันอังคารที่ 9 มกราคม 2511 แล้วเสด็จออกเททองหล่อพระชัยวัฒน์วชิรมงกุฎ เวลา 15.29 น. โดยมีพระคณาจารย์ผู้ทรงวิทยาคุณนั่งปรกอธิษฐานจิตเจริญภาวนาในพิธีพุทธาภิเษก

นอกเหนือไปจากการสร้างพระพุทธรูป-พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์วชิรมงกุฎ ยังมีการสร้างเหรียญที่ระลึก เป็นเหรียญพระรูปเหมือนเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (จวน) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

เหรียญที่ระลึกพิมพ์ทรงกลม ด้านหน้าเหรียญเป็น พระรูปสมเด็จพระสังฆราช (จวน) ด้านหลังเหรียญมีตรามงกุฎบนพานแว่นฟ้าแวดล้อมด้วยฉัตรเครื่องสูง 5 ชั้น ประกอบ 2 ข้าง (ตราสัญลักษณ์ประจำวัด) มีอักษรระบุว่า “สมโภช 100 ปี วัดมกุฏกษัตริยาราม พ.ศ.2511” สำหรับงานสมโภชพระอารามครบ 100 ปี

เหรียญที่ระลึกพิมพ์ทรงมน ด้านหน้าเหรียญเป็นพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (จวน) ด้านหลังเหรียญมีพระเศวตฉัตร 3 ชั้น และอักษรขอมอุ ครบรายพระหัตถ์ (ลายเซ็น) พระนามว่า “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อุฏฐายี)” และอักษรภาษาไทยระบุว่า “ฉลองพระชนมายุ 70 พรรษา 2511” สำหรับงานฉลองพระชนมายุ

วัตถุมงคลชุดฉลอง 100 ปีวัดมกุฏกษัตริยาราม และฉลองพระชนมายุครบ 70 พรรษา สมเด็จพระสังฆราช (จวน) เป็นวัตถุมงคลอีกรุ่นหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ทรงประกอบพิธีเททองหล่อเป็นปฐมฤกษ์

กลายเป็นวัตถุมงคลอันทรงคุณค่าอย่างหาที่สุดมิได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน