อาการ การเมือง ประยุทธ์ พลังประชารัฐ อาการ สนิมสร้อย

อาการ การเมือง ประยุทธ์ พลังประชารัฐ อาการ สนิมสร้อย – พลันที่วิปรัฐบาลฟื้นความคิดที่ไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายถึงรัฐบาลชุดก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 บทบาทของประธานสภาผู้แทนราษฎรก็ทรงความหมาย

ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล “ประท้วง”ได้

หากเห็นว่า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ย้อนไปกล่าวถึงบทบาทในยุคคสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส.ส.อย่าง นายไพบูลย์ นิติตะวัน สามารถประท้วง

แต่คำถามอยู่ที่ว่า “ประธาน” จะวินิจฉัยอย่างไร

หากประธานมาจากพรรคพลังประชารัฐอาจเอนเอียง หากประธานมาจากพรรคภูมิใจไทยอาจหวั่นไหว แต่หากประธานมาจากพรรคประชาธิปัตย์ก็ไม่น่าจะวอกแวก

นั่นก็เพราะว่าประธานจากพรรคประชาธิปัตย์ คือ นายชวน หลีกภัย และ นายชวน หลีกภัย คือประธานสภาผู้แทนราษฎรที่มีศักดิ์ศรีแห่งประธานรัฐสภา

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ย่อมรู้อยู่เป็นอย่างดี

รู้อยู่เป็นอย่างดีว่า นายชวน หลีกภัย เป็นส.ส.สมัยแรกจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2512 ในยุคของ จอมพลถนอม กิตติขจร ยาวนานกว่า 50 ปีมาแล้ว

เป็นตั้งแต่ ส.ส.ธรรมดากระทั่งหัวหน้าพรรค

เคยผ่านญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจตั้งแต่ยุค จอมพลถนอม กิตติขจร กระทั่งยุคของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

ถามว่าการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือรัฐมนตรีจำกัดเฉพาะแต่ปัจจุบันเท่านั้นจริงละหรือ

นายชวน หลีกภัย ตอบได้ว่า ไม่จริง

เพราะในยุคที่ นายชวน หลีกภัย เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้นำฝ่ายค้านเคยยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ นายบรรหาร ศิลปอาชา มาแล้ว

เป็นการอภิปรายในปี 2539

เป็นการอภิปรายไม่เพียงแต่เรื่องใหม่ๆ สดๆ ร้อนqของ นายบรรหาร ศิลปอาชา หากกระทำถึงขั้นย้อนไปนำเอาใบสูติบัตร นายบรรหาร ศิลปอาชา เมื่อเดือนสิงหาคม 2475 มาชำแหละ

ตราบใดที่ นายชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร ตราบนั้น บรรทัดฐานอย่างที่วิปรัฐบาลต้องการไม่มีทางเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

เพราะมิใช่วิถีแห่งระบบรัฐสภา

เพราะว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อทำรัฐประหาร กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อมาเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนมิถุนายน 2562 คือบุคคลคนเดียวกัน

มิใช่เป็น “ประยุทธ์” อื่นที่เพิ่งหลุดเข้าสู่วงการ เมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน