ตัวตน การเมือง

#ไม่เอา “ควายแดง”

ในโลก ออนไลน์

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ตัวตน การเมือง #ไม่เอา “ควายแดง” ถามว่าปรากฏการณ์แห่ง #ไม่เอาควายแดง ปรากฏขึ้นได้อย่างไร

เกิดขึ้นจากข่าวลือ ข่าวปล่อยในเรื่อง “รัฐประหาร” และเป็นการติด # ต่อต้านพร้อมกับดักคอเหมือนกับรู้เป็นอย่างดีว่าจะเกิดจากที่ใด

รู้เป็นอย่างดีในเรื่อง “การเมือง” รู้เป็นอย่างดีในเรื่อง “การทหาร”

ขณะเดียวกัน ก็บิดข้อความอันเป็นความหมาย “เดิม” ของ “ควายแดง” จากสถานการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ให้มีความเป็น “อื่น”

นี่คือ กิมมิก อันมากับ “ทวีตภพ”

ต้องยอมรับว่า #ไม่เอาควายแดง ดำเนินไปในลักษณะ “ตีปลาหน้าไซ”

รู้สภาพการณ์ทางการเมืองเป็นอย่างดีว่า รัฐ ประหาร พลเรือนไม่อาจทำได้ รู้อย่างดีว่า รัฐประหารทหารอื่นไม่อาจทำได้

มีแต่ “ทหารบก” เท่านั้นที่ทำได้

พลเรือนยุคปี 2476 อาจเคยทำผ่านกระบวนการรัฐธรรมนูญ แต่ก็ถูกรัฐประหารซ้อน ทหารเรืออาจเคยทำเมื่อปี 2494 แต่ก็กลายเป็น “ขบถ”

งาน “รัฐประหาร” จึงเป็นงานของ “กองทัพบก”

หาก “รัฐประหาร” เกิดขึ้นอีก วิถีดำเนินจะเป็นอย่างไร

ยอมรับเถิดว่า รัฐประหารดำเนินไป 2 เป้าหมาย 1 คือ การแย่งชิงอำนาจ และ 1 คือการกระชับอำนาจที่มีอยู่ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด

รัฐประหารเมื่อปี 2557 เด่นชัด

เด่นชัดว่าเป็นการกระทำรัฐประหาร “ซ้ำ” เพื่อกระชับอำนาจจากรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 เป็นอำนาจที่รู้อยู่ว่าอยู่กับใคร

เป็นไปได้หรือที่จะมีการแย่งชิงอำนาจ

นับวันการเคลื่อนไหวในชุมนุม “ออนไลน์” จะยิ่งทรงพลานุภาพ

ปรากฏการณ์แห่ง “แฟลชม็อบ” แท้จริงแล้วคือ เงาสะท้อนแห่งการแสดงตัวตนของคนในโลกออนไลน์ เป็นการกระตุกให้รับรู้ในสิ่งเกิดใหม่ ปรากฏการณ์ใหม่

เช่นเดียวกับ #ไม่เอาควายแดง








Advertisement

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน