หยิกเล็บ เจ็บเนื้อ

หยิก ส.ว. เจ็บถึง “คสช.”

เจ็บถึง “รัฐบาล”

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

หยิกเล็บ เจ็บเนื้อ หยิก ส.ว. เจ็บถึง “คสช.” เจ็บถึง “รัฐบาล”:คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง – กระแสกดดันต่อ 250 ส.ว.ในขณะนี้ถือว่าเป็น “กรรมเก่า” ทางการเมือง

เหมือนกับการเปรียบเทียบระหว่าง ส.ว. กับ ส.ส.จะมีรากฐานมาจากจุดต่างอย่างสำคัญ คือ ส.ส.มาจาก “การเลือกตั้ง” ขณะที่ ส.ว.มาจาก “การแต่งตั้ง”

เป็นความจริง แต่ก็มิได้เป็นความจริงทั้งหมด

เพราะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วภายในกระบวนการของ“การแต่งตั้ง”นั้นยังสัมพันธ์กับคำถามที่ว่าใครแต่งตั้งและมีเป้าหมายอะไรในการแต่งตั้ง

นั่นแหละสภาพที่ ส.ว.กลายเป็นตำบล กระสุนตก

250 ส.ว.มาจาก “คสช.”เพื่อผลประโยชน์โดยตรงของ “คสช.”

250 ส.ว.คือพัฒนาของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ “สนช.” เป็นผลผลิตแห่งการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

บทบาทของ “สนช.” เป็นอย่างไร บทบาทของ“ส.ว.” ก็เป็นอย่างนั้น

ตลอดเวลา 5 ปีของสนช.คือการเป็น”สภาฝักถั่ว” การทำทุกอย่างเพื่อสนองอำนาจของคสช. บทบาทของ 250 ส.ว.ก็เป็นเช่นเดียวกัน

นั่นก็คือ เพื่อการสืบทอดอำนาจของ ”คสช.” ไม่มีเป็นอื่น

กระแสและความรู้สึกต่อ 250 ส.ว.จึงดำเนินไปในลักษณะแห่ง “สงครามตัวแทน”

อาจกล่าวได้ว่าเป็นความรู้สึกของสังคมที่มีต่อบทบาทและความหมายของ“สนช.” และสืบทอดมายังบทบาทและความหมายของ“ส.ว.”

เท่ากับเป็นการตีลูก“แคนนอน”ชิ่งไปยัง “เจ้านาย”

ประกอบกับ 250 ส.ว.มีบทบาทเด่นคือขานชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี นอกจากนั้นก็ไม่ได้แสดงบทบาทละความหมายอะไรเลย

ความรู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจจึงทะยานขึ้นสูง

ความไม่พอใจต่อ 250 ส.ว.มีผลสะเทือนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ไม่เพียงเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น หัวหน้าคสช. หากแต่กำเนิดของ 250 ส.ว.ยังมาจากการแต่งตั้งโดยอำนาจของคสช.อีกด้วย

การหยิก 250 ส.ว.จึงเท่ากับเจ็บไปถึงคสช.อย่างมีนัยสำคัญ

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน