ประชุม รัฐสภา

ความร้อนแรง การเมือง

ในยุค “ไวรัส”

คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

ประชุม รัฐสภาความร้อนแรง : ในที่สุด การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญก็ต้องย่างก้าวเข้ามาเยือน

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐจะสกัดขัดขวางการเปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอย่างไร แต่ในที่สุดก็มิอาจหนีรอดไปจากการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญ

อย่างน้อยวันที่ 22 พฤษภาคม ก็ต้องเกิดขึ้น

เป็นการเกิดขึ้นภายใต้ความเรียกร้องต้องการของฝ่ายค้าน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชาติ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเสรีรวมไทย

ที่สำคัญ คือการรอคอยของสังคมไทย

ปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดก็คือ การรอคอยและตั้งความหวังของสังคม

ถามว่าเหตุใดจึงเกิดกระแสเรียกร้องกระทั่งมีการติด # ส.ว.มีไว้ทำไม อาจเป็นเรื่องในแบบ #MobFromHome ในโลกโซเชียล

แต่นั่นแหละคือเงาสะท้อนอันแหลมคมทางสังคม

เพราะสังคมเริ่มตั้งข้อกังขาต่อบทบาทของ ส.ว.ในสถานการณ์แห่งการแพร่ระบาดของไวรัส ภายใต้มาตรการ”เข้ม”ของสถานการณ์ฉุกเฉิน

จึงได้เกิดคำถามต่อบทบาทของ”อำนาจนิติบัญญัติ”

เด่นชัดอย่างยิ่งว่าข้อเสนอให้เปิดประชุมรัฐสภาสมัย”วิสามัญ”เป็นเรื่องทางการเมือง

รู้ทั้งรู้ว่าเสียงของตนมีน้อย เสียงของตนมีไม่เพียงพอ รู้ทั้งรู้ว่าจะไม่ได้รับความร่วมมือจาก ส.ส.ในปีกของพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาลอย่างแน่นอน

แต่การเคลื่อนไหวนี้ก็เพื่อ “วัดใจ”

วัดใจในความสำนึกของ ส.ส.ว่าจะคำนึงถึงความเป็น “ผู้แทน”อันมาจากการเลือกของ”ราษฎร”มากน้อยเพียงใดไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย

นี่คือโจทย์ทางการเมืองที่โยนให้กับ”สังคม”

การเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญจึงทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง

โดยเฉพาะการเมืองในท่ามกลางความขัดแย้ง แตกแยก โดยเฉพาะการเมืองอันได้รับผลสะเทือนจากความเดือดร้อนในทางเศรษฐกิจอันรุนแรงและแหลมคม

เป็นการเมืองของ”ราษฎร” เป็นการเมืองของ “ประชาชน”

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน