คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง : ตัวเลข ว่างงานกับ สถานการณ์ ฉุกเฉินตัวเลข 8.4 ล้าน
การยืนยันแนวโน้มคนว่างงานจำนวน 8.4 ล้านคนมีพลานุภาพ
มีพลานุภาพเพราะ 1 เป็นตัวเลขอันเป็นผลสะเทือนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส โควิด-19 และ 1 เป็นตัวเลขอันเป็นผลสะเทือนจากมาตรการ “เข้ม”
เป็นมาตรการ“เข้ม”จากสถานการณ์“ฉุกเฉิน”
ที่สำคัญเป็นอย่างมากเป็นการประมวล คาดหมายและนำเสนอโดย“สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”
เป็น“ข้อมูล”จากหน่วยงานอันเป็น”มันสมอง”
แท้จริงแล้ว ตัวเลขแนวโน้มคนว่างงาน 8.4 ล้านคนมิได้เป็นตัวเลข“ใหม่”
ก่อนหน้านี้ภาคเอกชนอันประกอบด้วย สมาคมธนาคารไทย หอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ได้เคยยืนยันมาแล้ว
ยืนยันตัวเลขการว่างงานอยู่ที่ 10 ล้านคนด้วยซ้ำ
เป็นการยืนยันตั้งแต่ 1 เดือนแรกของการใช้มาตรการ“เข้ม” เป็นการยืนยันตั้งแต่ 1 เดือนแรกของการประกาศและบังคับใช้สถานการณ์ “ฉุกเฉิน”
แต่ดูเหมือนว่าฝ่าย“ความมั่นคง”จะไม่ฟัง
ระหว่างตัวเลขว่างงาน 8.4 ล้านกับ 10 ล้านคนมีความใกล้เคียงกัน
ไม่ว่าจะมาจากสมาคมธนาคารไทย ไม่ว่าจะมาจากหอการค้าไทย ไม่ว่าจะมาจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ล้วนสำคัญ
ยิ่งยืนยันจาก “สภาพัฒน์” ยิ่งสำคัญ
เพราะนี่มิได้เป็นผลสะเทือนจาก “โควิด-19” อย่างด้านเดียว ตรงกันข้าม เป็นผลสะเทือนจากมาตรการ “เข้ม”และการประกาศบังคับใช้สถาน การณ์ “ฉุกเฉิน”
ปิดเมือง ปิดงาน ปิดอาชีพ ตัดรายได้ของประชาชน
สัญญาณเตือนในเรื่องคนว่างงาน เป็นสัญญาณเตือนอย่างทรงความหมาย
ทรงความหมายเพราะผลสะเทือนจากมาตรการ “เข้ม” ผลสะเทือนจากประกาศบังคับใช้สถานการณ์ “ฉุกเฉิน”ตกกระทบกับสถานะทาง “เศรษฐกิจ”
หากไม่ระมัดระวัง กลียุคย่อมตามมาแน่นอน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน