เส้นทาง การเมือง ภายใน “พลังประชารัฐ” ทรยศ และหักหลัง : คอลัมน์ วิเคราะห์การเมือง

อาการทางการเมืองอันเกิดกับพรรคพลังประชารัฐ มาจาก “ภายใน”

เป็นเรื่องของความขัดแย้ง แตกแยก ระหว่างแต่ละกลุ่มภายในพรรคพลังประชารัฐโดยมี “กลุ่ม 4 กุมาร” อยู่ในลักษณะ “เหยื่อ” ในทางการเมือง

มิได้เป็นปัญหามาจาก “ภายนอก” มิได้เป็นการกระทบกระแทกแดกดันอันมาจากพรรคเพื่อไทย มิได้เป็นการขุดคุ้ยด้วยนวัตกรรมทางการเมืองจากพรรคก้าวไกล หรือคณะก้าวหน้า

เป็น “สนิม” อันเกิดแต่เนื้อในตนของ “พลังประชารัฐ”

อาการนี้อาจแสดงออกที่ “ตำแหน่ง” ทางการเมือง แต่ซับซ้อนกว่านั้น

คล้ายกับว่าปฏิบัติการของ 18 กรรมการบริหารพรรค ต้องการให้เปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค ที่ตำแหน่งเลขาธิการพรรค

2 ตำแหน่งนี้เสมอเป็นเพียง “เป้า”

เป็นเป้าเหมือนกับเป็นตำแหน่งภายในพรรค การเข้ายึดครองในสถานะของกรรมการบริหารพรรค แต่ตำแหน่งแต่ละตำแหน่งก็เป็นเหมือนกระดานหก

ตำแหน่ง “รัฐมนตรี” ต่างหากคือ “เป้าหมาย”

อาการทางการเมืองในพรรคพลังประชารัฐเป็นการปฏิรูปการเมืองหรือไม่

ไม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ไม่ว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ล้วนตอบได้ว่ามิใช่การปฏิรูปการเมืองอย่างแน่นอน

หากแต่เป็นการแย่งชิง “ตำแหน่ง” ในทางการเมือง

แม้ว่าเฉพาะหน้าคือการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรค คือการเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรค แต่ในที่สุดแล้ว ยังเป็นตำแหน่งของ “รัฐมนตรี” ในครม.

ทุกอย่างดำเนินไปในกระบวนการท่า “สมบัติ” ผลัดกันชม

จากนี้จึงเด่นชัดว่า เส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างไร

เป็นเส้นทางที่ไม่แตกต่างไปจาก จอมพลถนอม กิตติขจร ประสบ เป็นเส้นทางที่ไม่แตกต่างไปจาก พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ประสบหลังการสืบทอดอำนาจ

เป็นเส้นทางที่คึกคักด้วยการทรยศ หักหลัง ในทางการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน