พิกัดโควิด เจาะไอเดียสาวดีไซน์ผู้สร้าง Covid Tracker แบบเรียลไทม์ บอกตำแหน่งคนป่วยโควิด-19 อัพเดตสถานการณ์ และโรงพยาบาลที่รับตรวจแบบนาทีต่อนาที

พิกัดโควิด 50,000 คนต่อนาที! นี่คือยอดเข้าชมเว็บ Covid Tracker ซึ่งการันตีได้เลยว่าเวลานี้นอกจากหน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ที่เป็นไอเทมรอดตาย เว็บไซต์ที่ว่าก็กลายมาเป็นเครื่องมือช่วยชีวิตที่ขาดไม่ได้ด้วยเหมือนกัน แม้แต่ พี่ตูน บอดี้สแลม ยังแชร์และพูดถึงทีมงาน Covid Tracker ผ่านในทวิตเตอร์ส่วนตัว!

“ทำอะไรที่เราสนุกและมีความสุข และถ้าสิ่งนั้นจะเกิดประโยชน์กับใครๆ ได้ด้วย คงจะดีไม่น้อย สู้ๆ นะครับ” นักร้องขวัญใจคนไทย พี่ตูน บอดี้สแลม ทวิตข้อความชื่นชมและให้กำลังใจทีมงานผู้สร้างเว็บไซต์ Covid Tracker ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @ToonArtiwara

หลังจากที่เว็บไซต์ดังกล่าวเปิดตัวเพียงแค่ 12 วัน ก็กลายเป็นที่พูดถึงและมีกระแสตอบรับดีมาก ใครจะรู้ว่าเบื้องหน้าความสำเร็จ จากการรายงานสถานการณ์และผู้ป่วยโควิด-19 แบบนาทีต่อนาทีจะมีผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นทีมงานผู้พัฒนาเว็บไซต์วัยหนุ่มสาวรุ่นใหม่ เพียงแค่ 7 คนเท่านั้น!!

“เจนนี่ – รมิดา จึงไพศาล” Product Designer and Front-end Developer วัย 24 ปี เปิดใจกับ ข่าวสดบิวตี้ ถึงแรงบันดาลใจในการปลุกปั้นเว็บไซต์ Covid Tracker ว่าเกิดขึ้นจากการเห็นข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 ที่ถูกส่งต่อกันไปในโลกออนไลน์ จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า หากมีแพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องไว้ในที่เดียวจะดีกว่าไหม

“ตอนนั้นคุณแม่ส่งไลน์มาเรื่องคนติดโควิด-19 ใกล้ๆ กับออฟฟิศที่เจนนี่ทำงาน เราเลยคุยกับ พี่ใหม่ – อาพร พลานุเวช เจ้าของบริษัท 5Lab ที่เราทำงานอยู่ว่าช่วงนี้มีข่าวแบบนี้เยอะมาก น่าจะมีคนที่รวมไว้นะ พี่ใหม่บอกว่าถ้างั้นเราทำกันเลยดีไหม สร้างเว็บที่มีข้อมูลที่เชื่อถือได้ขึ้นมา พูดจบก็ตัดสินใจทำกันเลย

หน้าที่หลักๆ คือ เน้นหาข้อมูลจากหลายๆ ที่ว่าจริงแค่ไหน ถ้ายังไม่แน่ใจเราก็ยังไม่ลง แหล่งอ้างอิงหลักๆ คือกระทรวงสาธารณสุขค่ะ รวมถึงประกาศจากเอกชน เช่น คอนโด บริษัท ร้านอาหาร อีกที่ก็คือกระทรวงดิจิทัล แอนตี้ เฟคนิวส์ เซ็นเตอร์ ซึ่งจริงๆ จะมีข่าวปลอมหลายเรื่อง เราก็คัดเรื่องที่เกี่ยวกับโควิด-19 มาลง”

หากใครที่ติดตามเว็บไซต์ Covid Tracker จะรู้เลยว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและจบได้ในเว็บเดียว ซึ่งฟีเจอร์ใหม่ๆ ในอนาคตอันใกล้ที่เราจะได้เห็น เจนนี่บอกไว้ว่ากำลังเพิ่มลูกเล่นปักหมุดพิกัดโรงพยาบาลที่รับตรวจไวรัสเข้าไปด้วย

“จริงๆ ตอนสร้างเว็บ Covid Tracker ไม่ได้คิดว่าจะออกมาสาธารณะขนาดนั้น แรกคืออยากให้เป็นแหล่งรวมข่าวให้คนเข้ามาติดตามง่ายๆ และรู้ตัวทันว่าตรงไหนเกิดอะไรขึ้น แต่ตอนนี้สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน เคสเริ่มเยอะขึ้น ทางทีมงาน 5Lab ก็คิดว่าการรับข่าว มันเริ่มสำคัญน้อยกว่าการดูแลตัวเอง หรือการรักษาแล้ว

เพราะเมื่อก่อนคนยังออกไปข้างนอกได้ แต่ตอนนี้คนออกไปไหนไม่ได้แล้ว ไปตรงไหนก็อันตรายหมด ทางทีมงานเลยมีการเพิ่มฟีเจอร์ที่บอกว่าโรงพยาบาลไหนรับตรวจบ้าง พิกัดอยู่ตรงไหน ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เผื่อเป็นประโยชน์มากขึ้น และมีแพลนว่าจะประสานกับโรงพยาบาลต่างๆ ว่าขาดเหลืออะไรจะได้นำมาแชร์กัน”

แม้ต้องทำงานอย่างหนัก ท่ามกลางกระแสข้อมูลที่หลั่งไหลเข้ามา รวมถึงเคสผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นจนน่าตกใจ แน่นอนว่าสิ่งที่ทีมงาน 5Lab ทำอยู่ อาจไม่ได้ผลตอบแทนเป็นเงินทองมหาศาล แต่กลับเป็นความภาคภูมิใจที่วัดมูลค่าไม่ได้ ซึ่งเจนนี่เองก็ได้ทิ้งท้ายด้วยว่า หากสังคมรู้จักรับผิดชอบตัวเอง สถานการณ์ที่เลวร้ายจะต้องดีขึ้นแน่นอน

“ภูมิใจนะคะ เหมือนเราทำเพราะความสนุกก่อนเลย จริงๆ ทำสนองนีดตัวเองกันว่าอยากทำ ต้องบอกว่ามันเป็นสิ่งที่เราทำกันทุกวันอยู่แล้ว การออกแบบเว็บไซต์ สำหรับเราเป็นสิ่งที่ถนัดประมาณหนึ่งเลยรู้สึกว่า ได้นำสิ่งที่ถนัดมาทำแล้วสนุก เป็นประโยชน์กับสังคมด้วย

ส่วนที่อยากฝากถึง เจนนี่ว่าจริงๆ แล้ว ถ้าทุกคนรับผิดชอบตัวเอง หรือดูแลตัวเองดีๆ ทำสิ่งที่ควรทำ เช่น ไม่ออกไปข้างนอกเกินความจำเป็น หรือล้างมือบ่อยๆ ถ้าป่วยก็กักตัว ถ้าทุกคนช่วยกันก็น่าจะควบคุมสถานการณ์ได้

อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องแชร์ข่าว พอมีไลน์ มีเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ที่ข่าวไวมาก เรารับข่าวมาก็ส่งต่อไปโดยที่ยังไม่ทันเช็คเลยว่าจริงไหม จากความตระหนักจะกลายเป็นแพนิกแทน เราได้มาสเต็ปหนึ่งก็ควรเช็คก่อนว่าจริงไหม ไม่ใช่ส่งต่อเลย ถ้าแชร์โดยที่ไม่รู้ต้นตอ มันอาจจะทำให้สถานการณ์แย่กว่าเดิมได้ อยากให้ช่วยกันค่ะ”

อย่างที่สาวเจนนี่บอก เสพข่าวได้แต่ต้องมีสติด้วยเช่นกัน เพราะจากที่ควรจะพากันดูแลตัวเองก็จะกลายเป็นพากันแพนิกเกิดความเครียดกันไปเสียนี่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน