การใช้ “คดีความ” ในการเมืองยุคพิสดาร

คอลัมน์ ชกไม่มีมุม

วงค์ ตาวัน

การใช้ “คดีความ” ในการเมืองยุคพิสดาร – การเมืองไทยในยุคนี้ ยุคที่เป็นประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบ มากด้วยเรื่องราวปาฏิหาริย์ กฎกติกาสามารถตีความได้สุดพิสดาร มีอะไรต่อมิอะไรที่ไม่คิดว่าจะได้เห็น กลับได้เห็นกันอย่างโจ่งแจ้ง ทำกันได้อย่างสบายๆ หน้าตาเฉย

อย่างเช่น การอาศัย “คดีความ” เพื่อนำมาสู่การเปลี่ยนค่าย เปลี่ยนจุดยืน ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างโจ๋งครึ่มครั้งแรกของการเมืองไทย

เป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นประเด็นสำคัญ สำหรับการเมืองในยุคนี้เลยทีเดียว!

ใช้มาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เมื่อเริ่มเปิดตัวผู้สมัครของพรรคต่างๆ

ดังเห็นได้จากปรากฏการณ์ นักการเมืองเดิมๆ ของพรรคการเมืองที่เป็นศัตรูของกลุ่มอำนาจ แห่ย้ายไปอยู่พรรคการเมืองตั้งใหม่ที่ตั้งปุ๊บก็กลายเป็นพรรคขนาดใหญ่ทันที

แล้วไปตรวจสอบได้เลยว่า นักการเมืองที่ย้ายค่าย ไปสังกัดพรรคใหม่ใหญ่โตนั้น

หลายราย มี“คดีความ”เป็นชนักปักหลัง!!

ดังนั้นพรรคใหม่ใหญ่โตดังกล่าว นอกจากใช้ “พลังดูด” ตามประสาพรรคอู้ฟู่แล้ว

ยังใช้พลังด้าน “คดี” เป็นจุดสำคัญในการดึงดูดนักการเมืองย้ายค่ายอีกด้วย

นอกจาก“คดี”จะเป็นเครื่องมือในการ“บีบ” แล้ว ยังมีโปรโมชั่นต่อรองล่อใจอีกต่างหาก!

ย้ายค่ายแล้วมีโปร กลายเป็น “ผู้พ้นมลทิน” หรือไม่ก็ชนักที่ปักหลัง สามารถหลุดได้ทันที

ดังเช่น กลายเป็นผู้ที่ตามตัวมาส่งไม่ทัน เป็นที่ลือลั่นกันมาแล้ว

รวมถึง เมื่อถึงเวลาโหวตสำคัญในสภา ต้องกู้หน้าแก้สภาล่มให้ได้

คนที่เคยหลุดพ้นคดีความ ก็ได้รับโทรศัพท์ เพื่อทวงบุญคุณจากผลคดีนั้น จนต้องเปลี่ยนจุดยืนแหกมติพรรคในการโหวตไปในทันที

หรือการเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่หนึ่ง

“คดีความ” ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการชี้ผลเลือกตั้งส่วนหนึ่งด้วย!?!

หัวคะแนนของอดีตนักการเมือง พากันย้ายค่ายไปช่วยอีกพรรคอย่างหน้าตาเฉย แทนที่จะช่วยผู้สมัครพรรคเดิม

นั่นเพราะหวังผล จากโปรย้ายค่าย เพื่อช่วยลดหย่อนผ่อนหนักให้เป็นเบา

นี่คือความเป็นไปอันพิลึกพิลั่นของการเมืองยุคนี้

ยุคที่เต็มไปด้วยปาฏิหาริย์พิสดาร

ไปจนถึง “คดี” ก็กลายเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง!!

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน