ผงกะหรี่

คอลัมน์ รู้ไปโม้ด

โดย…น้าชาติ ประชาชื่น

ผงกะหรี่ – ผงกะหรี่ได้มาจากต้นอะไร มีต้นไหม มีประโยชน์มากใช่ไหม

มธุสร

ตอบ มธุสร

เริ่มจากคำว่า กะหรี่ ก่อน ชื่อนี้มาจากศัพท์ kari หรือ karhi ซึ่งเป็นภาษาทมิฬของชาวอินเดียใต้ แปลว่า น้ำแกง น้ำข้น หรือ ซอส ผงกะหรี่ หรือ เตอร์รี่ พาวเดอร์-Curry Powder มีต้นกำเนิดมาจากประเทศอินเดีย ได้มาจากการผสมส่วนประกอบหลักๆ เข้าด้วยกัน ได้แก่ ลูกซัด เมล็ดยี่หร่า ลูกผักชี และ ผงขมิ้น

อย่างไรก็ตาม ในแต่ละประเทศก็มีการปรุงแต่งผงกะหรี่ให้เข้ากับวัตถุดิบที่แต่ละประเทศมี ซึ่งก็แล้วแต่ว่าใครจะปรุงแต่งรสชาติ กลิ่น และสีเพิ่มเติม แต่ส่วนมากแล้ววัตถุดิบที่ใช้ทำผงกะหรี่ก็จะเป็นเครื่องเทศและสมุนไพร

เช่น เปลือกพริกเผ็ด เปลือกพริกแดง พริกหยวก พริกไทยดำ พริกขี้หนู กระเทียม ลูกกระวานเทศ กานพลู อบเชยเทศ อบเชยจีน ลูกจันทน์เทศ ดอกจันทน์เทศ โป๊ยกั้ก ขิง กระเทียม ใบไทม์ ใบกะหรี่ เมล็ดมัสตาร์ด เมล็ดป๊อปปี้ ดอกอบเชย เมล็ดขึ้นฉ่าย เมล็ดเทียนสัตตบุษย์ และเมล็ดผักชีลาว

ผงกะหรี่

ผงกะหรี่

เกี่ยวกับประโยชน์ของผงกะหรี่ซึ่งได้มาจากการผสมเครื่องเทศหลายชนิดเข้าด้วยกัน ซึ่งล้วนมีคุณสมบัติเฉพาะตัว ข้อมูลจาก kapook health รวบรวมประโยชน์ของผงกะหรี่ไว้ 7 ประการ 1.ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐโคโลราโดเผยว่า ขมิ้นที่เป็นส่วนประกอบหลักในผงกะหรี่มีสรรพคุณลดความเสี่ยงโรคเบาหวานได้ โดยอ้างจากผลการทดลองเมื่อปี 2011 ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology ที่พบว่า สารประกอบอย่างเคอร์คิวมินในขมิ้นสามารถคงระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้พุ่งสูงขึ้นได้ อีกทั้งยังช่วยควบคุมระดับอินซูลินในหนูทดลองที่กินอาหารไขมันสูงได้ด้วย ทั้งนี้ นักวิจัยบอกด้วยว่า เคอร์คิวมินมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับยารักษาโรคเบาหวาน

2. กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เครื่องเทศชนิดต่างๆ ที่ผสมอยู่ในผงกะหรี่มีทั้งวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญต่อร่างกาย โดยเฉพาะขมิ้นที่มีรายงานจากวารสาร Nutritional Biochemistry ว่ามีปริมาณวิตามินดีมากพอที่จะช่วยให้ร่างกายจับโปรตีนจากอาหารที่กินเข้าไปได้ดีขึ้น เสริมความแข็งแรงให้กับระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และยังช่วยร่างกายต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่ก่อเชื้อวัณโรคได้อีกด้วย

3. ป้องกันการอักเสบ ศาสตราจารย์เอเดรียน กอมบาร์ท ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยออริกอนเผยว่า สารเคอร์คิวมินในขมิ้นมีสรรพคุณต่อต้านการอักเสบ โดยเฉพาะการอักเสบในช่องท้องและลำไส้ อีกทั้งเคอร์คิวมินยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ

4. ช่วยลดคอเลสเตอรอล เครื่องเทศอย่างลูกซัดก็มีสรรพคุณที่ไม่ธรรมดา โดยผลการศึกษาเมื่อปี 2011 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร International Journal of Experimental Pathology พบว่า เมื่อให้หนูทดลองกินอาหารที่มีลูกซัดประกอบอยู่ 12% จะพบว่าระดับคอเลสเตอรอลในหนูทดลองลดลงราวๆ 42% อีกทั้งปริมาณคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดียังลดได้ถึง 75% และไขมันในตับลดลงได้ถึง 22% อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยนี้ยังต้องศึกษาในคนอีกต่อไป

5. ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ ผงกะหรี่จัดเป็นเครื่องเทศที่มีสรรพคุณช่วยต่อสู้กับอาการอักเสบ โดยการศึกษาในสัตว์พบว่า ส่วนผสมอย่างขมิ้นในผงกะหรี่สามารถช่วยขจัดโปรตีนที่มีชื่อว่า เบต้าอะมีลอยด์ (Beta-Amyloid) อันเป็นสาเหตุของโรค อัลไซเมอร์ได้

6. ช่วยต่อต้านเซลล์มะเร็ง ผลการศึกษาใน Korean Journal of Urology เผยว่า หากรับประทานเครื่องเทศอย่าง ผงกะหรี่ได้ทุกวันจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้ เพราะสาร เคอร์คิวมินมีความสามารถในการต่อสู้และป้องกันมะเร็ง โดยจะไปรบกวนการพัฒนาของเซลล์มะเร็ง รวมทั้งยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปพร้อมกัน นอกจากนี้สมาคมมะเร็ง แห่งประเทศสหรัฐอเมริกายังพบอีกว่า สารเคอร์คิวมินยังมีฤทธิ์ปราบเซลล์มะเร็ง ทำให้เนื้องอกหดตัว และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของเคมีบำบัด

และ 7. ดีท็อกซ์ร่างกาย มหาวิทยาลัยแคนซัสเผยผลการศึกษาว่า ลูกผักชีมีสรรพคุณขจัดโลหะหนักที่ตกค้างอยู่ในร่างกาย เช่น สารตะกั่ว สารปรอท ซึ่งเป็นสารที่มีผลต่อการลดระดับฮอร์โมนเพศชายและลดจำนวนสเปิร์ม อีกทั้งการกำจัดสารตะกั่วออกไปจากร่างกายยังจะช่วยลดภาวะเครียดที่เกิดจากออกซิเดชั่น หรือภาวะที่อนุมูลอิสระเข้าไปทำลายระบบต่างๆ ภายในเซลล์ร่างกาย หรืออาจทำลายลึกไปในระดับดีเอ็นเอ ซึ่งอาจก่อให้เกิดโรคเสื่อมเรื้อรังชนิดต่างๆ ได้

[email protected]

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน