วัดกุฎีดาว – ไม่ดราม่านะ อยากทราบประวัติเป็นทางการของวัดกุฎีดาว

ม้า
ตอบ ม้า
ข้อมูลของกรมศิลปากรระบุว่า วัดกุฎีดาว มีสภาพเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมือง

ประวัติการก่อสร้างวัดกุฎีดาวไม่ชัดเจน ปรากฏในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า พระยาธรรมิกราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง ทรงสร้างเมื่อจุลศักราช 671 ปีเถาะ เอกศก และพระอัครมเหสีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้นคู่กัน ส่วนในคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า พระมหาบรมราชา ทรงสร้างวัดกุฎีดาว (กุฏิทวา) และพระภูมินทราธิบดีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์

แต่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับกล่าวความต้องกันว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้างวัด มเหยงคณ์ และไม่มีฉบับใดกล่าวถึงวัดกุฎีดาว จนกระทั่งสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระจึงปรากฏเรื่องของวัดกุฎีดาวขึ้น

สันนิษฐานว่าวัดกุฎีดาวอาจจะสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับวัดมเหยงคณ์ หรือหลังจากนั้นเล็กน้อย และคงเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญวัดหนึ่งทางบริเวณที่เรียกว่า “อโยธยา” เนื่องจากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า

เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ อีกไม่กี่ปีต่อมาสมเด็จพระ อนุชาธิราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคลก็ได้ปฏิสังขรณ์วัด กุฎีดาวซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามขึ้นบ้าง เป็นการดำเนินตามแบบอย่างของสมเด็จพระเชษฐาธิราช

การเลือกวัดกุฎีดาวเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดมเหยงคณ์นั้น แสดงว่าวัดกุฎีดาวสร้างมานานแล้ว คงเป็นวัดใหญ่ที่สำคัญแต่มีสภาพทรุดโทรมพอๆ กับวัดมเหยงคณ์

การปฏิสังขรณ์ใหญ่ครั้งนี้จึงจะสมพระเกียรติ เริ่มในปี พ.ศ.2254 กินเวลา 3 ปีเศษจึงสำเร็จ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ต้องเสด็จประทับแรมควบคุมการก่อสร้างแต่ละครั้งเป็นเวลานาน

หลังจากนี้ไม่มีเรื่องราวการก่อสร้างหรือซ่อมแซมอีก แต่มีปรากฏว่าวัดกุฎีดาวเป็นวัดหลวง และเป็นที่พำนักของพระเทพมุนี พระราชาคณะซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ นั้น

เจ้านายพี่น้อง 3 พระองค์ คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี พากันกระด้างกระเดื่อง สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรต้องทรงนิมนต์พระราชาคณะ 5 รูป เข้าช่วยเจรจาประนีประนอม โดยมีพระเทพมุนีเจ้าอาวาสวัดกุฎีดาวเป็นประธาน

เมื่อพิจารณาจากหลักฐานในพระราชพงศาวดารจะเห็นว่าวัดกุฎีดาวได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในสมัยอยุธยา ตอนปลาย ดังนั้น ลักษณะแบบอย่างทางศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่จึงเป็นแบบอยุธยาตอนปลายร่วมสมัยกับการบูรณะที่วัดมเหยงคณ์

ซากโบราณสถานหรือสถาปัตยกรรมของวัดกุฎีดาวที่ยังปรากฏอยู่ในปัจจุบันเป็นกลุ่มโบราณสถานในเขตพุทธาวาส อยู่ในวงกำแพงแก้ว มีเฉพาะอาคารพระตำหนัก หรือที่เรียกกันว่า “กำมะเลียน” เท่านั้นที่อยู่นอกกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ

เข้าใจว่าบริเวณดังกล่าวอาจเป็นเขตสังฆาวาสในสมัยโบราณ แต่ กุฏิเสนาสนะอื่นๆ คงปรักพังสูญหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากสมัยโบราณนิยมสร้างด้วยเครื่องไม้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน