เส้นทางการออกเสียงประชามติ 7 ส.ค. นับวันยิ่งทวีความสลับซับซ้อน

รอบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์เกี่ยวพันได้รับการพูดถึงมากมาย

ไม่ว่าการจับกุมนักศึกษากลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่และผู้สื่อข่าว รวม 5 คน ที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พร้อมเอกสาร

โหวตโนในรถ ด้วยข้อหาเชื่อว่าจะแจก ส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดราชบุรี ก่อนได้รับการประกันตัว อันนำไปสู่การเข้าตรวจค้น

สำนักงานเว็บไซต์ข่าวในเวลาต่อมา แต่ไม่พบหลักฐานความผิดใดๆ

แต่ประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจ คือการปรากฏเอกสารบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ในรูปแบบจดหมายกว่า 1 หมื่นฉบับ ส่ง แพร่กระจายไปทั่วจังหวัดแถบภาคเหนือ ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เป็นต้น

ลักษณะจดหมายที่พบเป็นซองสีขาว มีตราครุฑ จ่าหน้าถึงบ้านเลขที่ปลายทาง แต่ไม่ระบุชื่อ-นามสกุลผู้รับ ภายในบรรจุเอกสารข้อความบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับนโยบาย 30 บาท เบี้ยผู้สูงอายุ และนโยบายเรียนฟรี

จดหมายดังกล่าวถึงจู่ๆ จะโผล่ขึ้นมา แต่ไม่ถือเป็นเรื่องใหม่ เนื่องจากก่อนหน้านี้ มีโฆษกและผู้ใหญ่ในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดประเด็นไว้ก่อนแล้ว

ในกรณีของ “รัฐธรรมนูญปลอม”

ผู้ใหญ่ในกรธ.คนดังกล่าวยังเรียกร้องผ่านไปถึงคสช. ในฐานะหัวหน้าแม่น้ำ 5 สาย และกกต.ผู้มีอำนาจตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียง ประชามติฯ ให้ควานหาตัวนายทุนใหญ่

ผู้อยู่เบื้องหลังจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญปลอม มาดำเนินคดีรับโทษ

เอกสารที่กรธ.ระบุว่าเป็นรัฐธรรมนูญปลอม มีการเชื่อมโยงไปถึง 7 เหตุผลไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (เอ็นดีเอ็ม)

ซึ่งยังเป็นที่สับสนในข้อกฎหมายว่า แท้จริงเป็นแค่เอกสารเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญที่ใครก็สามารถทำได้หรือไม่ แม้แต่กกต.กับกรธ.เองก็ยังไม่ได้ข้อยุติในเรื่องนี้

แต่สำหรับจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ แตกต่างออกไป เนื่องจากมีลักษณะของ “วิชามาร” ชัดเจน แม้จะยังไม่รู้ว่าออกมาจากฝ่ายไหนก็ตาม

ถ้ามองอย่างผิวเผินจากสภาพภูมิศาสตร์ทางการเมือง อาจกล่าวได้ว่าเป็นฝีมือของพรรคเพื่อไทย หรือไม่ก็กลุ่มนปช.คนเสื้อแดง ที่เป็นฐานมวลชนขนาดใหญ่ให้กับพรรค

เนื่องจากแสดงจุดยืน”ไม่รับ”ร่างรัฐธรรมนูญมาตลอด

แต่หากถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องทำจดหมายออกมาแจกจ่าย

ก็ต้องดูตรงที่ว่า ถ้าหากจังหวัดภาคเหนือและภาคอีสานเป็นพื้นที่ในการยึดครองจริง พรรคเพื่อไทยและนปช.ก็น่าจะรู้ว่าชาวบ้านในพื้นที่มีแนวโน้มตัดสินใจต่อร่าง รัฐธรรมนูญนี้อย่างไร รับหรือไม่รับ

เมื่อรู้แล้ว เหตุใดถึงต้องไปทำเรื่องสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมาย

ข้อน่าสังเกตอีกอย่าง บ้านเลขที่จ่าหน้าบนซองจดหมายที่มีการตรวจพบรวมแล้วจำนวนนับหมื่นฉบับ ล้วนเป็นข้อมูลที่อยู่อาศัยตามทะเบียนราษฎร ภายใต้การควบคุมดูแลของหน่วยงานรัฐ

น่าสงสัยว่าพรรคเพื่อไทยหรือนปช.ไปล้วงมาได้อย่างไร

โดยเฉพาะจดหมายส่งปลายทาง จ.เชียงใหม่ ที่ตำรวจสภ.เมืองเชียงใหม่ และทหารมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละยึดได้

จากการตรวจสอบตราไปรษณีย์พบส่วนหนึ่งต้นทางมาจาก ปณ.สันทราย และปณ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ แต่ก็มีส่วนหนึ่งส่งมาจาก ปณ.ดุสิต และปณ.หลักสี่ กทม. ด้วยเช่นกัน

เหล่านี้จึงเป็นข้อพิรุธว่าที่จริงแล้วจดหมายป่วนประชามติ เป็นฝีมือใครกันแน่

สมาชิก สปท.บางคนกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ถ้าหากเจ้าหน้าที่มั่นใจในข้อมูล ไม่ว่าเรื่องการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญปลอม หรือต้นตอที่มาของจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ

ก็ควรเร่งจับตัวการ นายทุน คนหนุนหลัง มาดำเนินคดีให้ได้ก่อนวันลงประชามติ 7 สิงหาคม เพื่อขจัดข้อกังขาของสังคมว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแค่การจัดฉากทำลายความ น่าเชื่อถือฝ่ายเห็นต่างหรือไม่

นอกจากเรื่องร่างรัฐธรรมนูญปลอม และจดหมายบิดเบือนแล้ว

ยังมีประเด็นน่าสนใจอื่นเกี่ยวกับทิศทางภายหลังการลงประชามติร่าง รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะคำถามว่า ถ้าผลประชามติออกมาว่าไม่ผ่าน แล้วรัฐบาลคสช. จะเดินหน้าประเทศชาติบ้านเมืองต่ออย่างไร

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ให้รายละเอียดคร่าวๆ ในประเด็นนี้ว่า

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญทำประชามติไม่ผ่าน ก็ต้องกลับไปแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ใน 4 ประเด็น เพื่อเปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

ทั้ง 4 ประเด็น ประกอบด้วย ให้ใครดำเนินการ ดำเนินการด้วยวิธีใด ต้องแล้วเสร็จในเวลาเท่าใด และเสร็จแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อ

 

จะว่าไปแล้วก็เป็นแนวทางเดียวกับที่รัฐบาล คสช.เคยทำหลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

นั่นคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 อันเป็นที่มาของ กรธ.ชุดที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติในปัจจุบัน

ทิศทางอันสับสนของสถานการณ์หลังวันที่ 7 ส.ค.

ยังไม่นับรวมถึงการเทศน์แบบ “คาบลูก คาบดอก” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.

“ถ้าไม่เรียบร้อย ผมเขียนเองก็ได้ จะเขียนแบบที่ประชาชนต้องการ”

ที่เจ้าตัวเผลอหลุดปากประกาศออกมากลางเวทีงานมอบรางวัลกองทุนหมุนเวียนดีเด่นประจำปี 2559 เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

แล้วยังบังเอิญสอดรับกับสิ่งที่ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลแถลงหลังประชุมครม.ว่า

“นายกฯ ยังปรารภว่า ได้ยินมาจากที่พูดรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญด้วยเหตุผลต่างๆ หนึ่งในเหตุผลคือ อยากให้คสช. อยู่นานๆ ไม่รับดีกว่า”

หลังสิ้นเสียงแถลงของโฆษกรัฐบาล ทำให้หลายคนหวนนึกถึงบทสรุปของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างฯ ภายหลังร่างรัฐธรรมนูญที่ตนเองและคณะเขียนขึ้นมา ไม่ผ่านความเห็นชอบของสปช. ว่า

เป็นเพราะ “เขาอยากอยู่ยาว”

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้มากว่า คำเทศน์แบบคาบลูกคาบดอก และคำปรารถใน ครม.ของพล.อ.ประยุทธ์ ทำให้ฝ่ายเคลื่อนไหวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ต้องกลับมาคิดคำนวณข้อดี-ข้อเสียกันใหม่

แต่ขณะเดียวกันสัญญาณที่ดังออกมาจาก คสช. ก็อาจถูกแปลความได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย สุดท้ายแล้วอาจมีชะตากรรมไม่ต่างจากร่างฉบับบวรศักดิ์

ท่ามกลางกระแสวิชาเทพ-วิชามาร ทั้งในฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายคนกันเอง ถูกงัดขึ้นมาห้ำหั่นกันอย่างดุเดือดในช่วงโค้งสุดท้าย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน