กรรมการสรรหากกต.เคาะรายชื่อว่าที่กกต.ชุดใหม่ 5 ราย ประกอบด้วย สันทัด ศิริอนันต์ไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, สมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร อธิบดีกรมวิชาการเกษตร

อิทธิพร บุญประคอง อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย และอดีตเอกอัครราชทูต พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า อดีตผู้ว่าฯหลายจังหวัด และ ธวัชชัย เทิดเผ่าไทย อดีตสปท. อดีตผู้ว่าฯหลายจังหวัด

ในมุมมองของนักวิชาการและอดีตกกต. เห็นอย่างไร

โคทม อารียา

ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

สำหรับว่าที่ 5 กกต.ชุดใหม่นั้นเมื่อดูจากรายชื่อแล้ว ต้องบอกตามตรงว่าไม่รู้จักคนใดเป็นการส่วนตัว จึงไม่สามารถวิจารณ์คุณสมบัติของแต่ละคนลงในรายละเอียดได้ แต่เมื่อดูจากประวัติทั้ง 5 คนแล้วจะเห็นว่ามาจากสายข้าราชการทั้งหมด รวมทั้งเป็นชายทั้งหมดอีกด้วย

ทั้งนี้ ในส่วนของ 2 คนที่เคยเป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น หากจะพูดว่ามีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงหรือมีประสบการณ์ในเรื่องของการจัดการเลือกตั้งนั้น ก็ต้องบอกว่ายังไม่ชัดนัก

ส่วนคนอื่นๆ จะมีความสนใจหรือมีประสบการณ์ในเรื่องของการเลือกตั้งอย่างไรนั้นก็ไม่สามารถตอบได้ว่าทั้งหมดมาจากการสรรหาที่ยอดเยี่ยม หรือยังมีจุดอ่อนอยู่ แต่ทั้งหมดขึ้นกับความรับผิดชอบของคณะกรรมการสรรหา รวมถึงสนช. ที่กำลังจะพิจารณาคุณสมบัติของว่าที่ กกต.ต่อไป

หลังจากนี้อยากให้ สนช.มีคำอธิบายต่อสังคมในส่วนของผู้ที่ได้รับการสรรหาจากสายศาล เนื่องจากเห็นว่ารายชื่อยังคงเป็นบุคคลเดิม ดังนั้น สนช.ต้องมีคำอธิบายว่าเมื่อบุคคลทั้งคู่ถูกปฏิเสธไปแล้ว เหตุใดครั้งนี้จึงยังได้รับโอกาสให้กลับเข้ามาอีก สนช.ต้องมีคำอธิบายทั้งในกรณีที่มีมติรับและไม่รับในส่วนของสายศาล เปรียบเทียบให้สาธารณะได้รับรู้และเข้าใจอย่างชัดเจนด้วย

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ สนช.ต้องพร้อมอธิบายต่อสาธารณะได้ โดยเฉพาะเหตุผลว่าทำไมคราวที่แล้วถึงไม่รับ และคราวนี้ทำไมถึงรับ หรือถ้าครั้งนี้ยังจะไม่รับอีกว่าเป็นเพราะเหตุใด

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่าการสรรหายังไม่เปิดกว้างเท่าที่ควร ควรอย่างยิ่งที่จะมีบุคคลจากสายอื่นๆ เข้ามามากกว่านี้ เช่น ทนายความ องค์การพัฒนาเอกชน เป็นต้น

เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่อยากให้บุคคลที่ได้รับการสรรหาเข้ามาจำกัดอยู่แต่ในแวดวงข้าราชการเพียงอย่างเดียว เพราะเราไม่ใช่รัฐราชการ จึงอยากให้เปิดกว้างต่อทุกฝ่าย อย่างน้อยชุดความคิดจะได้ไม่จำกัดอยู่แต่ในกรอบราชการ

ส่วนตัวเคยเป็น กกต.ชุดแรกในช่วงปี 2540 ก็ถือว่าเป็นมือใหม่ แม้จะเคยทำงานในองค์กรกลางการเลือกตั้ง แต่ก็ยังถือว่าเป็นมือใหม่สำหรับการจัดการเลือกตั้ง

แต่วันนี้ กกต.ถือเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาแล้ว ความเชี่ยวชาญในการจัดการเลือกตั้งขององค์กรก็มี เจ้าหน้าที่ประจำองค์กรก็มีความพร้อมปฏิบัติงาน ดังนั้น ขอฝากไปถึงคนที่จะเข้ามาเป็นฝ่ายคิดนโยบายว่านอกจากความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติประการสำคัญแล้ว

ภารกิจอาสาที่จะเข้ามาจัดการเลือกตั้งย่อมต้องมีความเที่ยงธรรม ทุ่มเทเวลาและความสามารถในเรื่องของการจัดการเลือกตั้งให้เต็มที่ อย่าเบี่ยงเบนไปเรื่องอื่นๆ เพราะสังคมฝากความหวังไว้กับทุกคน ซึ่งจะเป็นผู้ที่คลี่คลายให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงธรรม

เมื่ออาสาเข้ามาแล้ว อย่าหวังเข้ามาเพียงเพื่อแค่ให้ได้เป็นเกียรติประวัติเท่านั้นโดยที่ไม่มีผลงานอะไรเลย

 


อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ช่วยอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์

ด้วยสเป๊กที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกว่าด้วยกกต. ผลการสรรหาว่าที่กกต.ทั้ง 5 ราย จึงไม่ได้สร้างความแปลกใจเท่าไร จริงอยู่ที่ทุกคนต่างที่วัยวุฒิและคุณวุฒิครบถ้วน ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้

แต่ก็ยังมีข้อห่วงกังวลในแง่ประสบการณ์ตรงที่เกี่ยวข้องต่อการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะแค่งานจัดการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงงานส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็ง และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งภาพรวมดูแล้วไม่คุ้นเคย อาจมีประสบการณ์และความรู้ความเข้าใจต่อกกต.ไม่ครบวงจร

หลายฝ่ายอาจมองว่าขาดผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายก็รับฟังได้ แต่ที่หายไปแน่ๆคือ ผู้ที่มีประสบการณ์ตรงต่อด้านการเลือกตั้ง แม้จะบอกว่ามี 2 อดีตผู้ว่าฯ จากสายมหาดไทย ที่มีประสบการณ์ในการจัดการเลือกตั้ง แต่ก็อย่าลืมว่าความโปร่งใสและความเป็นธรรมก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

สำหรับข้อห่วงกังวลเรื่องการจัดการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายลูกใหม่นั้น เชื่อว่าฝ่ายประจำก็ช่วยเหลือในแง่การให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการออกนโยบายให้แก่กกต.กลางได้ แต่อย่างไรก็ตาม กกต.ใหม่ทุกคนสามารถเรียนรู้งานได้ก็จริง แต่ก็ไม่อยากให้ต้องใช้เวลานาน 6 เดือน ถึง 1 ปี ในการเรียนรู้

วิสัยทัศน์คือความจำเป็นที่กกต.จะต้องมี สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องมีประสบการณ์และมุมมองที่กว้างขวาง เนื่องจากเป็นงานทางสังคมศาสตร์ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่หนึ่งบวกหนึ่งเท่ากับสอง นี่จึงเป็นสิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการสรรหาควรออกมาอธิบาย ให้เหตุผลถึงการตัดผู้สมัครในสายภาคประชาสังคมที่มีประสบการณ์ต่อการจัดการเลือกตั้งโดยตรงทิ้งไป

เพราะมีรายหนึ่งลงสมัครทั้ง 2 รอบ เคยทำงานในสำนักงานกกต. เคยเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้ง แต่ไม่ได้รับเลือก แต่ผู้ที่ได้รับเลือกกลับเป็นอดีตข้าราชการทั้งหมด

วัฒนธรรมองค์กรแบบข้าราชการ จะทำให้อดีตข้าราชการเก่า ไปไม่ได้กับพลวัตทางสังคมและการเมืองที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

ส่วนผลการพิจารณาของสนช.จะเห็นชอบ 7 ว่าที่กกต.หรือไม่นั้น ส่วนตัวคิดว่าภาพรวมของครั้งนี้ดูดีกว่าที่ผ่านมา สนช.จึงไม่น่าตีตกเหมือนรอบที่แล้ว

และถ้าสนช.มีมติไม่เห็นชอบ 7 ว่าที่กกต.ตามที่มีการสรรหาและคัดเลือกก็จะกลายเป็นเรื่องทางการเมืองที่ต้องชี้แจงทันที เนื่องจากครั้งนี้จะกระทบต่อโรดแม็ปการเลือกตั้งอย่างแน่นอน

 


สดศรี สัตยธรรม

อดีตกกต.

คงต้องย้อนกลับไปดูที่รายชื่อว่าที่กกต.รอบแรก ที่สนช.ไม่รับทั้งหมด จะเห็นว่าผู้ที่ได้รับการสรรหามาส่วนใหญ่เป็นทนายความ การสรรหาครั้งนี้กรรมการสรรหาคงเปลี่ยนแบบฟอร์มเดิม เมื่อเอาคนที่เป็นอิสระ เป็นทนายแล้วสนช.ไม่รับก็ต้องเปลี่ยนเป็นอดีตข้าราชการ

จะเห็นว่าผู้ได้รับการสรรหามาครั้งนี้ทุกคนผ่านประสบการณ์มามาก มีตำแหน่งหน้าที่ระดับสูง ซึ่งสำคัญว่าการทำงานของกกต.ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์มากพอสมควร และครั้งนี้ก็มีอดีตผู้ว่าฯหลายคน มีประสบการณ์การทำงานกับท้องถิ่น กับประชาสังคม โดยเฉพาะการเลือกตั้ง หลายคนก็เป็นกกต.จังหวัดมาแล้ว

จึงคิดว่าทั้ง 5 คนเป็นผู้มีความเหมาะสม เพราะเปลี่ยนแผนในการสรรหาแล้ว ถ้าสนช.ไม่เอาอีกก็ไม่รู้จะทำอย่างไร และมีความหลากหลายดูแล้วน่าจะเหมาะสม เช่น อดีตทูต ซึ่งผ่านงานหลายประเทศมาแล้ว มีความชำนาญเรื่องภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศ จะทำได้ดีกว่าในการเลือกตั้งต่างประเทศ รวมถึงมีด้านการศึกษาด้วยก็น่าจะครบถ้วน

ที่ผ่านมากกต.ชุดก่อนก็มาจากผู้ว่าฯหลายคน ต้องยอมรับว่าทำงานให้กับกกต.ได้เป็นผลสำเร็จ เมื่อเห็นรายชื่อว่าที่กกต.ทั้ง 5 คนที่สรรหามาแล้ว ก็ดีใจ คิดว่าทำงานได้แน่

ส่วนตัวแทนจากศาลฎีกา 2 คนไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นที่ยอมรับของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และครั้งนี้ศาลก็ได้เปลี่ยนวิธีการเลือกให้ถูกต้องแล้ว

จากรายชื่อทั้ง 7 คน แม้จะไม่มีเอ็นจีโอหรือภาคประชาสังคม แต่ผู้ได้รับการสรรหาก็ทำเกี่ยวกับงานประชาสังคมอยู่แล้ว คิดว่าน่าจะหลากหลากและเหมาะสมที่สุด

 


ยุทธพร อิสรชัย

รศ.สาขาวิชารัฐศาสตร์ มสธ.

รายชื่อกกต.ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการประจำที่เกษียณอายุราชการ คงมีการทำงานรูปแบบของมหาดไทยและหนีไม่พ้นวังวนเรื่องของคนในกระทรวงมหาดไทยมาช่วยเรื่องการจัดการเลือกตั้ง

หากงานของกกต.สะท้อนภาพการนำคนมหาดไทยเข้ามาทำงานตรงนี้ เมื่อเทียบกับยุคก่อนๆ ที่มีการเรียกร้องให้มีกกต.เพราะต้องการความเป็นอิสระ แต่หากเป็นแบบนี้คงไม่เป็นอิสระ

นอกจากนี้ทั้ง 5 คนก็ไม่ได้มีประสบการณ์การทำงานที่ตรงกับภารกิจของกกต. หากเข้ามาทำหน้าที่การจัดการเลือกตั้งก็เป็นห่วงเรื่องการทำงานตามภารกิจของกกต. ซึ่งกกต.ชุดนี้ไม่ตอบโจทย์

นอกจากความไม่เป็นอิสระ อาจมีรูปแบบวัฒนธรรมการทำงานแบบมหาดไทย คือมีแนวคิดตามระบบราชการ มุ่งเน้นการใช้กลไกรัฐใช้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แต่กกต.ไม่ได้เน้นเรื่องของรัฐ ซึ่งต้องยึดโยงภาคประชาสังคมให้มากกว่านี้

อยากเสนอแนะให้ต้องมีภาคประชาสังคมเข้ามาเพื่อสร้างความเข้มแข็งในระบบการตรวจสอบการเลือกตั้ง จากที่เห็นรายชื่อปัญหาเรื่องการตรวจสอบคงจะเป็นจุดอ่อนของกกต.ชุดนี้ และการเชื่อมต่อกับประชาชนก็จะยากขึ้นด้วย

หากใช้ข้าราชการมาเป็นกกต.ทั้งหมดก็จะกลายเป็นกระทรวงการเลือกตั้ง ทั้งนี้ กลไกการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 เปลี่ยนไปหลายส่วนอาจจะมีปัญหารวมถึงภารกิจหลักของกกต.

ซึ่งกกต.ชุดใหม่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำเนินการตามกฏหมาย ถ้าเป็นบุคคลที่ไม่ได้มีประสบการณ์ หรือเคยทำภาคปฏิบัติทางนี้คงเป็นเรื่องยาก เพราะทุกอย่างใหม่หมดจึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

ส่วนที่เหตุใดคณะกรรมการสรรหาจึงเลือกบุคคลที่ไม่ตรงกับภารกิจ มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการที่กกต. 7 คนถูกคว่ำ คงไม่มีใครกล้ามาสมัคร ตัวเลือกก็น้อยลง เพราะเข้าไปแล้วก็โดนคว่ำ โดนตัดสิทธิ์สมัครในอนาคตทำให้คนสมัครน้อยลง

ก็น่าเห็นใจคณะกรรมการสรรหา แม้แต่ชุดก่อนบุคคลที่มีชื่อเสียงและทำงานตรงกับภารกิจด้านนี้หลายคนก็ตกรอบแรกกันหมด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน