บทบรรณาธิการ

คําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ว่าด้วยเรื่องการปรับเปลี่ยนคดีบางประเภทที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมนั้น ประกาศขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ผู้นำประเทศมีกำหนดเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ

หลังจากมีกระแสเรียกร้องมานานว่า หลายคดีที่เป็นการแสดงความคิดเห็นนั้นไม่ควรไปขึ้นศาลทหาร เพราะชัดเจนว่าไม่ได้กระทบต่อความมั่นคง

อีกทั้งการแสดงออกนั้นยังเป็นไปอย่างสันติ ทั้งส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตยที่ประชาชนควรมีเสรีภาพและมีส่วนร่วม

ประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุข้อความถึงที่มาของคำสั่งว่า สถานการณ์บ้านเมืองในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา มีความสงบเรียบร้อย ประชาชนให้ความร่วมมือที่ดีนำประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน การปฏิรูปประเทศและการสร้างสามัคคีปรองดองที่ถูกต้องเป็นธรรม เห็นได้จากการลงประชามติที่เรียบร้อย และร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบจากประชาชนด้วยมติท่วมท้น

จึงสมควรผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ลงอีกเพื่อทุกฝ่ายจะได้ใช้สิทธิ ปฏิบัติหน้าที่ของตน และได้รับความคุ้มครองตามกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะประกาศใช้ในเร็ววัน

ตลอดจนตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน

ด้วยข้อความดังกล่าวนี้จึงทำให้คาดหวังว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการจะคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นปัจจัยอันดับต้น เนื่องจากเป็นเรื่องที่นานาประเทศห่วงกังวลไทยมาโดยตลอด

ในคำแถลงของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติหลายครั้ง ปรากฏข้อห่วงใยในเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืน

ส่วนเมื่อเดือนพฤษภาคมปีนี้ ในกระบวนการทบทวนสิทธิมนุษยชนของประเทศ (ยูพีอาร์) โดยหน่วยงานของสหประชาชาติ ระบุชัดเจนถึงข้อเรียกร้องให้ไทยยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน การเคารพสิทธิและเสรีภาพการแสดงออก การประท้วง การชุมนุม การเคารพเสรีภาพของสื่อมวลชน

หากข้อเรียกร้องนี้ได้รับความเข้าใจและนำไปสู่การปฏิบัติ ย่อมส่งผลดีต่อประเทศไทย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน