นางสาวปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวถึงการจับกุมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง อันนำไปสู่ข้อเรียกร้องจากองค์กรสิทธิมนุษยชนจากต่างประเทศให้รัฐปล่อยตัวว่า

คดีได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนของกรมคุ้มครองสิทธิฯ แล้ว ทางกรมพร้อมให้ความช่วยเหลือตามหลักการ และระบุว่า การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามหลักสากล

โดยอ้างเหตุผลว่า กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้รับความคุ้มครองจากศาลปกครอง จึงถือว่าเป็นการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย

ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย

ประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดข้อโต้เถียงจากคนจำนวนไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือนายสุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา ซึ่งโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งคำถามอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพว่า

1.มีรัฐบาลเผด็จการทหารในประเทศไหนบ้างที่คุ้มครองสิทธิมนุษยชนได้จริง โดยเฉพาะสิทธิทางการเมืองและเสรีภาพในการแสดงออก

2.การอ้าง “คำสั่ง คสช.” ถือเป็นการปฏิบัติตาม “หลักสากล” อย่างไร มีประเทศไหนในโลกที่อ้างคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นหลักสากล

3.การใช้สิทธิ เสรีภาพต้องอยู่ในขอบเขตกฎหมายจริง แต่ต้องเป็นกฎหมายที่บัญญัติผ่านรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย ไม่ละเมิดหลักสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

และกระบวนการบังคับใช้กฎหมายต้องเป็นอิสระและเป็นกลาง

4.ระหว่างรัฐธรรมนูญกับคำสั่ง คสช.อะไรใหญ่กว่า ถ้าคำสั่ง คสช.ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่รับรองสิทธิเสรีภาพ

จะถือเป็นการปฏิบัติตาม “หลักสากล” อย่างไร

นี่คือส่วนหนึ่งของคำถามและข้อสงสัยที่เกิดขึ้นต่อกรณีดังกล่าว

เพราะในความเห็นของคนจำนวนไม่น้อย การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามหลักการนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้องในตัวเองอยู่แล้ว การสนับสนุนให้ความไม่ถูกต้องเกิดขึ้น ยิ่งไม่ถูกต้องหนักข้อไปกว่าเดิม

ยิ่งทำให้เกิดภาพตอกย้ำว่าหน่วยงานที่มีภาระหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิพลเมือง

กลับไม่ปกปักรักษารัฐธรรมนูญหรือสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองเสียเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน