บทบรรณาธิการ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 55/2559 ให้ยกเลิกการขึ้นศาลทหาร ยกเว้นคดีที่เกิดขึ้นก่อนคำสั่งฉบับนี้ และความผิดเกี่ยวกับธรรมนูญศาลทหาร

นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายว่าตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2559 เป็นต้นไป ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ตั้งแต่มาตรา 107-112 และความผิดต่อความมั่นคงต่อรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118

ความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 38/2557 ได้แก่ คดีที่ประกอบด้วยการกระทำหลายอย่างเกี่ยวโยงกัน และความผิดตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 50/2557 ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับคดีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ใช้เฉพาะแต่ การสงคราม จะพิจารณาในศาลปกติ

นั่นหมายความว่าคดีที่พลเรือนถูกจับกุม ฟ้องร้อง และค้างในศาลทหาร ก็ยังจะดำเนินต่อไป

อย่างไรก็ตาม ตามประกาศข้อ 2 เจ้าหน้าที่ทหารที่เป็นเจ้าพนักงาน ตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 และตามคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2559 นั้น

ยังคงมีอำนาจในการออกคำสั่งเรียกให้บุคคลมารายงานตัว จับกุมบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งหน้า ช่วยเหลือ สนับสนุน หรือเข้าร่วมในการสอบสวนกับพนักงานสอบสวน เข้าไปในเคหสถานหรือสถานเพื่อตรวจค้น ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ค้นพบ และกระทำการอื่นใดตามที่คสช.มอบหมาย

อำนาจเหล่านี้ยังคงมีอยู่เช่นเดิมทุกประการ เพียงแต่ต้องนำส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุสาเหตุที่ไม่อาจโอนคดีเดิมที่อยู่ไปสู่ศาลพลเรือนได้ เพราะบางคดีสืบพยานไปแล้ว หากจะโอนไปก็จะเกิดความยุ่งยาก

พร้อมกับเปิดเผยว่าขณะนี้มีคดีที่อยู่ในศาลทหารทั้งหมด 1,500 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 1,000 คดี อีก 500 คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณา

ปฏิกิริยาหลังคำสั่งคสช.ฉบับนี้ องค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศ และนานาชาติ เรียกร้องให้ทุกคดีที่จับกุมและขึ้นศาลทหารก่อนหน้านี้ ให้นำไปพิจารณาในศาลปกติด้วย

ฮิวแมนไรต์วอตช์ วิจารณ์ว่าแม้จะมีคำสั่งยกเลิกศาลทหาร แต่ก็ไม่ช่วยทำให้รัฐบาลไทยดีขึ้น เพราะคดีความมั่นคงที่สำคัญถูกดำเนินคดีไปเกือบหมดแล้ว

ข้อวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ คสช.น่าจะต้องรับฟังไว้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน