เรียกเสียงฮือฮาได้พอสมควร

รัฐบาลประกาศชักชวนข้าราชการและประชาชนทั่วไปหันมาใส่ใจออกกำลังกาย แทนการใช้เวลาหมกมุ่นอยู่แต่กับสมาร์ตโฟนและเครื่องคอมพิวเตอร์มากเกินไป

จนเกิดอาการ “เนือยนิ่ง”

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ นำร่องโชว์ความแข็งแรงตามสไตล์ทหาร พารัฐมนตรีและข้าราชการทำเนียบรัฐบาล ทำกิจกรรมยืดเส้นยืดสายเมื่อวันพุธที่ผ่านมา เป็นปฐมฤกษ์

และจะเป็นแบบนี้ต่อไปทุกวันพุธ จุดประสงค์เพื่อเพิ่มสมรรถนะและประสิทธิภาพการทำงาน

อีกทางหนึ่งก็เป็นการเรียกความฟิตพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ

เตรียมรับการ “เปลี่ยนแปลง” สำคัญมากมายหลายด้านในปี 2560 ที่กำลังจะมาถึง

ในมิติด้านการเมือง กำหนดตามโรดแม็ปให้เป็นปีมุ่งสู่การ “เลือกตั้ง” มีแนวโน้มอาจจะวุ่นวายอยู่พอสมควร

ขณะที่ด้านเศรษฐกิจก็ส่อ “ซึมยาว” ข้ามปี จนรัฐบาลต้องเร่งฉีดยากระตุ้นเพื่อแก้อาการ “เนือยนิ่ง” ตั้งแต่เนิ่นๆ ผ่านมาตรการลด แลก แจก แถม เป็นของขวัญปีใหม่

แต่ละโปรโมชั่นถือว่าโดนใจคนระดับหาเช้ากินค่ำไม่น้อย

 

ของขวัญปีใหม่รัฐบาล เริ่มจากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีก 5-10 บาท ในพื้นที่ 69 จังหวัดครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ

แต่ที่เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากสุดในแง่ที่ว่าก๊อบปี้มาจากนโยบาย “ประชานิยม” ของนักการเมือง ที่รัฐบาลคสช. และคนในเครือข่ายไม่เห็นด้วยและโจมตีให้ร้ายมาตลอด

คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการ “แจกเงิน” ให้คนจนหรือผู้มีรายได้น้อยที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ 3 ธนาคารของรัฐบาล จำนวน 5.4 ล้านราย

ใช้งบประมาณอัดฉีด 1.2 หมื่นล้านบาท

แยกเป็น แจกให้ผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3.1 ล้านราย รายละ 3,000 บาท แจกให้ผู้มีรายได้ 30,001 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี อีก 2.3 ล้านราย รายละ 1,500 บาท

กำหนดโอนเงินเข้าบัญชี ตั้งแต่ 1 ธันวาคม จนถึง 30 ธันวาคม 2559

ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกันก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมาตรการแจกเงินช่วยค่าครองชีพตั้งแต่ 1,500-3,000 บาท ให้กับเกษตรกรไปแล้ว 2.8 ล้านราย

ไม่รวมมาตรการ “จำนำยุ้งฉาง” หรือที่รัฐบาลให้เรียกว่ามาตรการชะลอขายข้าวเปลือกทั้งข้าวหอม ข้าวเจ้า ข้าวปทุมธานี เพื่อช่วยเหลือชาวนาพยุงราคาไม่ให้ตกต่ำกว่านี้

ปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อนาแปลงใหญ่ สูงสุดจากไม่เกิน 5 ล้านบาทเป็น 10 ล้านบาท ยืดเวลาชำระคืนจาก 3 ปี เป็น 5 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยจิ๊บจ๊อยแค่ 0.01%

ต่ออายุโครงการรถเมล์-รถไฟฟรี ที่มีมาตั้งแต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ออกไป 6 เดือน ถึง 30 เม.ย.2560 ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนในด้านการเดินทาง

กระทรวงพาณิชย์เตรียมหารือผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ร้านค้าส่ง-ค้าปลีก จัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ลดราคาสินค้าพร้อมกันทั่วประเทศ 20-80%

เท่านั้นยังไม่พอ กระทรวงการคลังยังเตรียมอัดโปรโมชั่นช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ

พร้อมแพ็กเกจกระตุ้นจับจ่ายผ่านมาตรการเที่ยว-กิน-ช็อปช่วยชาติ ซื้อสินค้าและบริการภายในประเทศช่วงเทศกาลปีใหม่ สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้

มาตรการลด แลก แจก แถม กระตุ้นกงล้อเศรษฐกิจหมุนเคลื่อนไปข้างหน้า

รัฐบาลใช้คำว่าเป็น “สวัสดิการของรัฐ” แต่ในทางการเมืองมองว่าไม่ต่างจาก “ประชานิยม” แม้แต่น้อย

แต่ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สังคมต้องจับตาคือ ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ สามารถกระตุ้นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมได้จริง

หรือเป็นแค่ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

มุ่งหาเสียงตุนคะแนนนิยมแฝงปมการเมืองในอนาคตหรือไม่

 

หันมาดูสถานการณ์การเมือง ในห้วงเวลาที่ประชาชนคนไทยยังอยู่ในความวิปโยคอาลัย จากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

วันศุกร์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างปาฐกถาในงานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย ว่า

รัฐบาลชุดนี้มีเจตนารมณ์แน่วแน่ที่จะมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน สืบสาน พระราชปณิธานและเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และอีกไม่นาน

ประเทศไทยจะมี “พระมหากษัตริย์องค์ใหม่”

นายกฯ ยังยืนยันนำพาประเทศเดินตาม “โรดแม็ป” ที่วางไว้ ไปสู่การเป็นประชาธิปไตยที่เป็นสากลและสมบูรณ์

หากฟังจากพล.อ.ประยุทธ์พูด ยังไม่พบสัญญาณใดๆ บ่งชี้ให้เห็นว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยครั้งสำคัญในรอบ 70 ปี จะมีผลทำให้ปฏิทินโรดแม็ปต้องขยับไกลออกไป

แต่ขึ้นชื่อว่าการเมือง ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน

เพราะกว่าจะถึงการเลือกตั้งตามโรดแม็ป ยังต้องรอไปจนถึงปลายปี 2560

ในห้วงเวลา 1 ปีนับจากนี้อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวในงานสัมมนาไทยแลนด์ 2017 ภูมิทัศน์ใหม่เศรษฐกิจไทย จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ตอนหนึ่งว่า

ในปี 2560 จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมาก เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในระดับปฏิรูปหรือ “รีฟอร์ม”

อย่างแรก คือการ “เปลี่ยนแผ่นดิน” หรือ “เปลี่ยนรัชกาล” ซึ่งจะเกิดขึ้นอีกไม่นาน

 

การเปลี่ยนที่ตามมาอย่างที่สอง คือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อกำหนดข้างในจะก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปอีกเป็นทอดๆ

และที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างสาหัส คือการออกกฎหมายลูก 10 ฉบับ ที่ต้องแล้วเสร็จภายใน 8 เดือนนับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้

โดย 4 ฉบับแรกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งต้องออกมาก่อน ประกอบด้วย กฎหมายคณะกรรมการการเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และกฎหมายเกี่ยวกับการสรรหาส.ว.

หากกฎหมายทั้ง 4 ฉบับประกาศใช้เมื่อใด หลังจากนั้นต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 5 เดือน

ดังนั้น เมื่อดูบริบทแล้วคาดว่าจะเกิดการเลือกตั้งในปี 2560 ตามขั้นตอนที่วางไว้

แต่อย่าลืมกรุณาให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล เพราะมี “ตัวแปร” ต่างๆ เข้ามาแทรกได้

วันนี้อาจยังมองไม่เห็นตัวแปร แต่วันหนึ่งที่เกิดขึ้นและสามารถปรับได้ก็จะยืนในปี 2560 แต่หากปรับไม่ได้ก็ต้องเผื่อเหลือเผื่อขาด

รองนายกฯ ยังยืนยันจัดการเลือกตั้งในปี 2560 แต่อย่าไปไกลถึงขนาดมีรัฐบาลใหม่ในปีเดียวกัน เพราะตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ประกาศผลภายใน 2 เดือน หาก กกต.ประกาศเดือนที่ 2 ก็จะล้ำออกไป

ที่น่าสนใจก็คือ การเลือกตั้งครั้งหน้าเป็นการเลือกตั้งแบบใหม่ ใช้บัตรใบเดียวเลือกส.ส. 2 ระบบ วิธีนับคะแนนก็ผิดไปจากเดิม อาจทำให้เกิดกรณีเดียวกับการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ นั่นก็คือ

“ไม่ใช่ใครได้คะแนนมากที่สุดแล้วจะได้เป็น ที่ได้ไม่มากที่สุดอาจจะได้เป็น”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ถึงจะกล่าวยืนยันว่ารัฐบาลคสช.ไม่เคยมีความคิดที่จะยืดเวลาโรดแม็ปออกไป แต่สุดท้ายอย่างไรยังต้องรอดูสถานการณ์กันแบบรายวัน รายเดือน

ทั้งหมดนี้คือความแน่นอนบนความไม่แน่นอนทางการเมือง

อะไรคือ “ตัวแปร” ที่นายวิษณุพูดถึง เป็นประเด็นน่าติดตามอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน