คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

เนือยนิ่ง เป็นคำที่ผู้คนเริ่มคุ้นมากขึ้นหลังจากรัฐบาลรณรงค์ให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐออกกำลังกายทุกวันพุธ เวลา 15.30-16.30 น.

พร้อมระบุข้อมูลว่าคนไทยโดยเฉพาะคนที่อยู่ในเมืองมีพฤติกรรมไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย เนื่องจากอยู่หน้าคอมพิวเตอร์หรือแก๊ดเจ็ตนานเกินไป จนเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคเบาหวาน ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หรือคิดเป็นร้อยละ 5.1

มาตรการริเริ่มแก้ไขอาการเนือยนิ่งดังกล่าวของรัฐบาล จึงได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก

ไม่เพียงกิจกรรมออกกำลังกายทุกวันพุธเท่านั้น รัฐบาลยังระบุถึงการยกร่างแผนยุทธศาสตร์กิจกรรมทางกายชาติ

ตั้งเป้าให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 68 เป็นร้อยละ 75 ในอีก 5 ปี ข้างหน้า

พร้อมรณรงค์ให้ภาคเอกชนและประชาชนให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายในสถานที่และระยะเวลาที่สะดวก โดยเลือกประเภทของการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับช่วงวัย

คาดว่าการรณรงค์ดังกล่าวจะสร้างความตื่นตัวและได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนและประชาชนทั่วไปได้มาก เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเห็นผลได้ชัดเจนในเรื่องสุขภาพ

เมื่อเปรียบเทียบกับอาการเนือยนิ่งทางเศรษฐกิจแล้ว การแก้ไขในเรื่องหลังนี้ยากกว่ามาก

หลังจากกระทรวงการคลังระบุว่า ในส่วนของรัฐมีโครงการลงทุนจำนวนมากทั้งโครงการรถไฟ รถไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เหลือแต่การลงทุนภาคเอกชนเท่านั้นที่ยังอ่อนแอ

แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อให้ได้การลดหย่อนภาษี 2 เท่าไปแล้ว แต่เอกชนก็ยังเนือยนิ่งอยู่

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าวนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ทราบอยู่แล้ว เช่นเดียวกับหนทางแก้ไขที่ต้องอาศัยการฟื้นตัวทางการเมือง

เมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เอกชนและประชาชนก็คงออกมาขยับเขยื้อนเอง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน