คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

กฎหมายสำคัญฉบับหนึ่งที่เพิ่งผ่านการประชุมในคณะสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คือร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพราะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในชีวิตประจำวันโดยตรง

แต่การถกเถียงยังจำกัดอยู่ในวงแคบ เช่น ความคิดเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ที่ครม.เสนอ เน้นไปที่การป้องกันการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพียงอย่างเดียว สปท.จึงอยากให้ครอบคลุมถึงความมั่นคงของประเทศและทางการทหารด้วย

เฉพาะประเด็นนี้ก็มีความสำคัญอย่างยิ่ง ที่ต้องเผยแพร่ข้อมูลว่า ผลของการขยายเนื้อหาให้ครอบคลุมด้านความมั่นคงและการทหารนั้นมีอะไรบ้าง

ประชาชนควรต้องได้รับทราบอย่างชัดเจนและกว้างขวาง

ในเมื่อความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์นั้นเป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมุ่งมั่นนำพาประเทศสู่โมเดล ไทยแลนด์ 4.0

หมายถึงการพาณิชย์ การเงินการลงทุนต่างๆ จะก้าวเข้าสู่ระบบดิจิตอล และสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

โมเดลดังกล่าวเป็นกรอบของการเดินหน้าสู่ความทันสมัย และเทคโนโลยี จึงต้องอาศัยฐานความคิดที่เปิดกว้างและสร้างสรรค์ และแสดงออก ถึงความเชื่อมั่นในเรื่องเสรีภาพของการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร

หากมีประเด็นความมั่นคงและการทหารเข้ามาเชื่อมโยง อาจทำให้การรับรู้ของโลกภายนอกต่อโมเดลนี้ไม่ชัดเจนและน่าเคลือบแคลงสงสัย

จากข้อเสนอของสมาชิกสปท.บางส่วนที่ต้องการให้ร่างกฎหมายระบุถึงอำนาจหน้าที่ของทหารและตำรวจ ในการดำเนินการระดับนโยบายและปฏิบัติการเมื่อเกิดสถานการณ์ร้ายแรงในภาวะฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่ซับซ้อนอีกเช่นกันถึงการตีความสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินในช่วงเวลาต่างๆ

แม้จะระบุว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เน้นเนื้อหา แต่เน้นคุ้มครองระบบคอมพิวเตอร์ของประเทศ แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า ปฏิบัติการดังกล่าว หมายถึงอะไร และจะกระทบต่อเสรีภาพของประชาชนทั่วไปในโลกไซเบอร์ด้วยหรือไม่

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และน่าจะถกเถียงหาข้อยุติกันเมื่อมีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน