คอลัมน์ รายงานพิเศษ

แม้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ไม่ได้กำหนดประเด็นรีเซ็ตพรรคการเมืองไว้ในร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

แต่ก็มีข้อกำหนดเบื้องต้นให้พรรคที่ดำเนินการอยู่ปรับปรุงระบบสมาชิกพรรค ภายใน 150 วัน หรือ 5 เดือน หรือขยายเวลาได้แต่ไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่กฎหมายใหม่ใช้บังคับ ไม่เช่นนั้นจะไม่มีสิทธิส่งผู้สมัคร

ส่วนการจัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกเริ่มต้นที่ 500 คน กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ แต่ละคนต้องลงขัน เป็นทุนประเดิม 2,000 บาท ขณะเดียวกัน ภายใน 4 ปี ต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 20,000 คน และบังคับให้มีสาขาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

เงื่อนไขดังกล่าวมีเสียงวิจารณ์ว่ากระทบทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่

1

มีความเห็นจากนักวิชาการและนักการเมือง ดังนี้

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช

อาจารย์ประจำศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

มองว่าเฉพาะมาตรานี้ทางกรธ.มีความพยายามให้พรรค การเมืองเป็นพรรคที่มีประชาชนสนับสนุน

จริงๆ ไม่ใช่เพียงไปลงชื่อเฉยๆ เท่านั้น หากลงชื่อกับพรรคการเมืองนั้นๆ แล้วก็ให้ร่วมลงทุนลงแรงกับพรรคด้วย ซึ่งมีการกำหนดว่าการจัดตั้งพรรคการเมือง ให้เริ่มต้นที่ 500 คน กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ คล้ายๆ ว่าให้มีการกระจายของ ผู้สนับสนุนพรรคอย่างทั่วถึง เราก็อาจจะมีพรรคการเมือง ที่คนทั้งประเทศให้การสนับสนุน

แต่พรรคการเมืองมีหลายลักษณะ อาทิ พรรคการเมืองแบบที่มีทั่วประเทศให้การสนับสนุน พรรคการเมืองท้องถิ่น หรือพรรคการเมืองที่เป็นระดับกลุ่ม

ร่างพ.ร.บ.พรรคการเมืองฉบับของกรธ. น่าที่จะเป็นระบบพรรคการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนทั้งประเทศ กรธ.อาจมองในระบบการเลือกตั้งว่าพรรคการเมืองต้องใหญ่ และมีคนสนับสนุน

จริงๆ แล้วพรรคการเมืองในปัจจุบันยังมีพรรคเฉพาะกิจ อย่างพรรคกรีน ถ้าไปหาคนทั่วประเทศสนับสนุน มองว่า บางพื้นที่หาคนสนับสนุนไม่ได้อย่างแน่นอน หรือบางพรรค ที่เป็นท้องถิ่นนิยม เช่น คนท้องถิ่นล้านนาอยากจะตั้งพรรค ท้องถิ่นล้านนา จะไปหาผู้ที่สนับสนุนทั่วประเทศคงยาก

หรืออย่างพรรคบาส ในประเทศสเปน จะไปหาผู้สนับสนุนในทุกพื้นที่ของประเทศสเปนคงยาก เพราะเป็นพรรคของกลุ่ม ซึ่งจริงๆ แล้วเขามีศักยภาพที่จะส่งผู้สมัครลงทั่วประเทศได้

ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะส่งผลดีกับพรรคขนาดใหญ่ ที่สามารถหา สมาชิกจนครบจำนวนได้ แต่จะกระทบกับพรรคเฉพาะกิจ และพรรคท้องถิ่นนิยม ที่ไม่สามารถหา สมาชิกให้มา สนับสนุนจนครบจำนวนที่กำหนดได้ ทำให้ไม่มีสิทธิ์ในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้

นอกจากนี้ เงื่อนไขของกรธ. ที่กำหนดขึ้นนั้น อาจทำให้องค์ประกอบของพรรคการเมืองไม่หลากหลาย พรรคเฉพาะกิจ หรือพรรคท้องถิ่น พรรคขนาดเล็ก อาจลำบากมากขึ้น พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดใหญ่อาจไม่มีปัญหา

ส่วนที่มีข้อกำหนดว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองต้องมีอย่างน้อย 500 คน และทุกคนต้องลงทุนประเดิมคนละ 2,000 บาทนั้น ไม่รู้ว่ากรธ.มีการคำนวณอย่างไร และที่มาที่ไปของ 500 คนนั้น มาอย่างไร ถ้ามองพรรคใหญ่สำหรับ 500 คน นั้นเล็กน้อยมาก แต่พรรคเล็กๆ คงยาก

ต้องฟังคำอธิบายจากกรธ.อีกทีว่า 500 คนที่กำหนดนั้นมาจากตัวแทนอะไร หรือมาจากไหน ทำไมต้อง 500 คน มากกว่านั้นได้หรือไม่ หรือน้อยกว่านี้ได้หรือไม่

นิกร จำนง

ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา สมาชิก สปท.

เงื่อนไขดังกล่าวอาจจะเป็นปัญหา กระทบต่อทั้งพรรคการเมืองใหญ่และพรรคการเมืองเล็ก

การจะให้ปรับปรุงระบบพรรคการเมืองต้องให้ชัดเจนว่าจะปรับปรุงอะไร เพราะในรายละเอียดเล็กๆ ที่ทำได้รวดเร็วก็มี ชี้มาเลยว่าอะไรบ้าง ถ้าบอกว่าให้พรรคการเมืองปรับปรุงระบบสมาชิกพรรค ขยายได้ไม่เกิน 3 ปี ที่ระบุว่าระหว่างนี้ลงเลือกตั้งไม่ได้ ต้องเขียนให้ชัดว่าอะไร

สำหรับพรรคการเมืองสิ่งสำคัญคือการเลือกตั้ง การขยายเวลาให้ทำเรื่องสมาชิก 3 ปีแต่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่ได้ ควรมีบทเฉพาะกาลว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วในขณะนี้ ไม่ส่งผู้สมัครเลือกตั้งได้แล้วทำให้เสร็จภายใน 3 ปี จะได้ไม่มีปัญหา

ส่วนการกำหนดเริ่มต้นตั้งพรรค 500 คน แต่ละคนลงขันทุนประเดิม 2,000 บาท เรื่องนี้จะกระทบต่อพรรคขนาดเล็ก แต่พรรคขนาดกลางและใหญ่ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ดังนั้นต้องให้ชัดว่า ประเด็นนี้จะทำกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือไม่

หากดูเผินๆ การจัดตั้งพรรคการเมืองที่กำหนดให้เริ่มต้นที่ 500 คน คนละ 2,000 บาท รวมเป็น 1 ล้านบาท พรรคการเมืองเล็กๆ ที่เป็นตัวแทนวิชาชีพ หรือผู้สนใจด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พรรคชาวนา พรรคสิ่งแวดล้อม พรรคแรงงาน พรรคเกษตรกร ที่ประกอบกันขึ้นมาด้วยคนจำนวนหนึ่งซึ่งมีความสนใจในเรื่องเหล่านี้ เติบโตตามธรรมชาติ เราอย่าผลักจากนายทุนใหญ่ให้เป็นนายทุนเล็ก

จากเดิมการจัดตั้งพรรคการเมืองกำหนดให้มี 5,000 คน ในเวลา 1 ปี ก็ทำกันไม่ค่อยได้อยู่แล้ว แล้วยังขยายเป็น 4 ปี ต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 2 หมื่นคน คงทำไม่ได้ เพราะถ้าตัดสินใจเช่นนี้ แสดงว่าไม่ต้องการให้มีพรรคการเมืองขนาดเล็กที่เป็นตัวแทนของนโยบายเฉพาะทางเกิดขึ้น

ส่วนตัวคิดว่าพรรคการเมืองขนาดเล็กยังควรมีอยู่ และจะมีสมาชิกเท่าไรก็มีไป แล้วประชาชนจะเป็นคนที่เลือกเอง เช่นที่อเมริกาพรรคการเมืองจะมีเท่าไรก็มี อยู่ที่ว่าประชาชนจะเลือก หรือไม่ให้สังคมเป็นคนตัดสิน อย่าเอากฎหมายไปเป็นตัวตัดสิน

เรื่องนี้การเมืองไทยพยายามทำมาหลายสิบปีแล้วทำไม่เคยสำเร็จ ขณะเดียวกันต้องไปให้ความรู้แก่ประชาชนว่าพรรคการเมืองคืออะไร ควรจะสนับสนุนอย่างไรมากกว่า ไม่ใช่ไปกำหนดกรอบให้พรรคการเมืองเป็นองค์ประกอบของสังคม หรือของการพัฒนาทางการเมืองหรือของประชาชนเท่านั้น

เพราะประชาชนไม่ใช่ต้นน้ำ ประชาชนเป็นกลางน้ำและปลายน้ำ ควรให้ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องพรรคการเมือง แล้วเขาก็จะสนับสนุน โดยการเป็นสมาชิกเอง อย่าไปใช้กฎหมายดักสายน้ำ ไม่ได้ จึงไม่เห็นด้วยที่จะมีการจำกัดพรรคการเมืองอย่างนี้

ส่วนที่เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องสมาชิกซ้ำซ้อนนั้นตอนนี้ไม่มีปัญหานี้ตัดทิ้งไปได้เลย เป็นเรื่องเดิมเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการ การเลือกตั้ง(กกต.) เข้ามาจัดระบบฐานสมาชิกใหม่ โดยใช้เลข 13 หลักของบัตรประชาชน เป็นไปไม่ได้ที่ในระบบจะมีซ้ำกัน

เราจะดัดพรรคการเมืองด้วยกฎหมายคงทำไม่ได้ตราบใด ที่ประชาชนไม่เข้าใจเรื่องการเมือง จึงควรให้ความรู้ประชาชนว่าพรรคการเมืองมีความสำคัญต่อประชาชนอย่างไร ต้องขยายตรงนี้ให้มากๆ เมื่อประชาชนรู้เขาก็จะจัดการกับพรรคการเมืองของเขาเอง

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

แกนนำภาคกทม. พรรคเพื่อไทย

พรรคใหญ่จะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนเนื่องจากมีฐานสมาชิกพรรคค่อนข้างมาก และจากคำสั่งของ คสช. ที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองมากว่า 3 ปีแล้ว ส่งผลให้ขาดการติดต่อกับสมาชิกพรรค

อีกทั้งยังต้องรอดูคุณสมบัติของผู้ที่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ว่าจะมีเงื่อนไขมากน้อยอย่างไร ซึ่งต้องมีการตรวจสอบว่าสมาชิกพรรคที่เป็นอยู่แล้วขาดคุณสมบัติหรือไม่ ปัญหาตรงนี้กับระยะเวลาที่กำหนดให้ตามกฎหมายไม่มีความสอดคล้องกัน เพราะกฎหมายใหม่บังคับไว้ว่าหัวหน้าพรรคต้องจัดทำทะเบียนสมาชิกให้ตรงตามความเป็นจริง

กรณีนี้เห็นสมควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองตามกฎหมายมีส่วนร่วมตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับพรรคการเมืองทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก

ส่วนพรรคเล็กจะได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน โดยเฉพาะพรรคที่ยังไม่ได้ตั้ง เนื่องจากมีเงื่อนไขสำคัญที่กำหนด ว่าต้องมีสมาชิกเริ่มต้น 500 คน มีเงื่อนไขในการสมทบทุนคนละ 2,000 บาทอีก และต้องหาสมาชิก ให้ครบ 2 หมื่นคน ภายใน 4 ปี

ในกรณีนี้หากมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมีสมาชิกเริ่มต้น 500 คน และมีส.ส. แต่ในภายหลังไม่สามารถหาสมาชิกได้ครบ 2 หมื่นคน จะมีผลต่อสถานภาพของส.ส.คนนั้นหรือไม่ ซึ่งถ้ามองในภาพรวมแล้ว เห็นว่าการตั้งเงื่อนไขลักษณะนี้ทำให้พรรคเล็กเกิดยาก

เสียงวิจารณ์ที่ว่าตั้งเงื่อนไขจนความเป็นพรรคการเมืองที่มีเสรีภาพหายไปหมดนั้น มองว่าพรรคการเมืองคือที่รวมของคน ที่มีอุดมการณ์ความคิดเดียวกัน แต่กรธ.กลับร่างเงื่อนไขที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอาจเป็นเพียงคนกลุ่มเล็กๆ บางอาชีพแต่มีอุดมการณ์เดียวกัน และมีเป้าประสงค์ที่จะ ตั้งพรรคการเมือง

แต่ไม่สามารถทำได้เพราะมีเงื่อนไขมากเกินไป โดยเฉพาะการหาสมาชิกให้ครบ 2 หมื่นคน ภายใน 4 ปี อีกทั้งเงื่อนไขเรื่องทุนประเดิม 2,000 บาท คิดง่ายๆ ว่าในยุคต่อไปใครอยากเป็นนายทุนพรรคการเมืองมีเงินแค่ 1 ล้านบาทก็เริ่มต้นได้แล้ว

ข้ออ้างที่ว่ากรธ.ไม่ต้องการเห็นนายทุนเข้ามาครอบงำพรรคการเมืองกลับจะยิ่งสร้างปัญหามากกว่าเดิม เพราะในอดีตการตั้งพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ในยุคต่อไปจะมีนายทุนเข้ามาควบคุมพรรคการเมืองมากกว่าเดิมเพราะใช้เงินไม่มาก

นอกจากนั้นขอเสนอให้ กกต. สร้างระบบการตรวจสอบที่มีคุณภาพให้กับพรรคการเมืองได้ใช้งาน เนื่องจาก กกต.เป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองตามกฎหมาย ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมาพรรคการเมืองไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ เลย แต่ทาง กกต.ยังคง ทำหน้าที่อย่างต่อเนื่อง

หากมีระบบการตรวจสอบที่ดี เช่น ในรูปแบบของซอฟต์แวร์การแก้ปัญหาสมาชิกซ้ำซ้อนก็สามารถกระทำ ได้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน