เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ถนนวิภาวดีรังสิต จัดงานเสวนา wake up Thailand special : 86 ปีประชาธิปไตย “ก้าวต่ออย่างไรให้ยั่งยืน” มีตัวแทน 10 พรรคการเมืองทั้งเก่าและใหม่ร่วมวงคุยถึงอนาคตประชาธิปไตยไทย โดยในวงเสวนาได้ตั้งคำถามกับตัวแทนพรรคการเมืองว่า 86 ปี ให้คะแนนประชาธิปไตยไทยอย่างไร ปัจจัยเกื้อหนุน อะไรคืออุปสรรค?

1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

สําหรับการให้คะแนนกับระบอบประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมาจากคะแนนเต็ม 10 นั้น ตนอยู่ในการเมืองมาหลายปี เห็นถึงความตื่นตัวเพื่อใช้สิทธิ์เสรีภาพของประชาชนมากขึ้น ประชาชนได้สัมผัสนายกฯที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ไม่ว่าจะอย่างไรการรัฐประหารหลายรอบผู้ที่ทำการรัฐประหารแล้วต้องตอบคำถามของประชาชนว่าจะเข้าสู่การเลือกตั้งเมื่อไหร่ รวมถึงการทำรัฐธรรมนูญยังต้องทำประชามติเช่นกัน สิ่งเหล่านี้เป็นตัวบ่งบอกว่าเรารู้ทันการเมือง

แต่วันนี้เรามีรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ตอนนี้เราถอยไปอยู่ที่คะแนน 5 จากที่เคยได้ 8 คะแนน คงต้องมาดูกันว่าจะสอบผ่านหรือสอบตกก็ขึ้นอยู่กับหลังการเลือกตั้งครั้งหน้าในปี 2562

อุปสรรคการเมืองอยู่ที่ผู้มีอำนาจ ถ้าต้องมีทางเลือกขั้นตอนคือ มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม มีการเปิดให้พรรคการเมืองทำกิจกรรม ต้องปลดล็อกพรรคการเมืองทำหน้าที่ของพรรคได้ และเมื่อพรรคได้ทำกิจกรรมการเลือกตั้งก็จะสุจริตเที่ยงธรรม แต่วันนี้เริ่มเห็นการดูด ให้เงิน หรือเอาตำแหน่งมาแลก อยากให้พรรคการเมืองสร้างความหวังให้ประชาชน นำเสนอนโยบายที่ตอบโจทย์ เสนอทางออกให้ประเทศ ชวนให้ประชาชนมาแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกัน

ส่วนความสำคัญของการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ตนเห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่ต้องการให้ปมเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นปัญหาที่ทำให้เกิดการสะดุดหรือทำสังคมไทยเดินต่อไม่ได้ ต้องมาตกลงกันว่าการรื้อรัฐธรรมนูญจะรื้อถึงตรงไหน ถ้ารื้อแล้วไม่มีการตรวจสอบแบบนั้นคงไม่ใช่

ดังนั้น ต้องให้สังคมมีฉันทามติ แล้วกดดันส.ว.เพื่อให้มีการแก้ไข แต่จะไปถึงจุดนั้นประชาชนต้องมั่นใจว่านักการเมืองไม่ได้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อตัวเอง แต่จะแก้เพื่อประชาชน

ส่วนการเลือก ผบ.ทบ.ควรเป็นอำนาจของใครนั้น ฝ่ายการเมืองควรกุมทิศทางได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เพื่อไม่ให้อำนาจการเมืองไปทำลายระบบความยุติธรรม

สำหรับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จะเป็นครั้งแรกในรอบ 35 ปีที่จะเลือกนายกฯ จากสองสภา เห็นว่า ส.ว.ไม่มีสิทธิขัดขวางพรรคที่ประชาชนลงคะแนนให้เกิน 250 เสียงในการจัดตั้งรัฐบาล

ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะสนับสนุนคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน แต่หากไม่มีก็พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน

2.นายวราวุธ ศิลปอาชา

แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา

ประเทศไทยเราล้มลุกคลุกคลานกับประชาธิปไตยมานาน บทเรียนที่คนไทยได้รับรู้จากประชาธิปไตยไทยพอนานๆก็เริ่มเปลี่ยนพรรค ท้ายสุดมั่นใจการเมืองภายใต้การระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น เราก้าวไปข้างหน้าจึงให้ 6 คะแนน

แสดงว่าการเมืองต้องมีอะไรดีขึ้น สักอย่าง เพียงแต่ตามระยะทางมีล้มบ้าง แต่ละพรรคแต่ละสีได้รับความบอบช้ำ ประชาธิปไตยอยู่เคียงข้างไทยเรา และการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเป็นบทพิสูจน์ว่าไทยดีอย่างไรบ้าง การที่เราจะเดินไปข้างหน้า การเลือกตั้งนั้นเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าการเมืองจะมาจากแบบไหนก็ตาม ท้ายที่สุดก็ต้องมีการเลือกตั้ง เสียงประชาชนเป็นเสียงที่ยิ่งใหญ่ ความมีสิทธิมีเสียงของประชาชนใครก็ปิดไม่ได้ มั่นใจว่าต่อไปต้องดีกว่านี้

เรื่องความแตกต่างระหว่างความคิดของสังคมชนบทกับสังคมคนเมือง จนทำให้มีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นจะทำอย่างไรให้ความต้องการมีความคิดที่ใกล้เคียงกัน ถ้าเรากำจัดความคิดที่แตกต่างและลดความเหลื่อมล้ำได้จะมีประชาธิปไตยที่ก้าวไปข้างหน้า และรัฐธรรมนูญทุกฉบับมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หากจะแก้โครงสร้าง ส.ส.ร.ต้องมาจากประชาชนทุกส่วน

ทั้งนี้ พรรคที่ได้เสียงข้างมากต้องเป็น ผู้มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล โดยรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลต่อ ในส่วนของพรรคชาติไทยนั้น การยกมือให้นายกฯคนใด ต้องดูนโยบายที่สัญญาไว้กับประชาชนว่าทำได้หรือไม่ ถ้าทำให้ประชาชนไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะเลือกนายกฯ คนนั้น

3.นายจาตุรนต์ ฉายแสง

แกนนำพรรคเพื่อไทย

ขอให้ 3 คะแนนจากเต็ม 10 กับระบอบประชาธิปไตยไทยที่ผ่านมา เพราะการมีรัฐประหารหลายครั้งเท่ากับว่าเรายังไม่มีรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญนี้ยังรับรองว่าการทำรัฐประหารนั้นไม่ผิด ยังเอาความคิดของคนเป็นผู้นำมาทำให้สังคมเชื่อว่าสังคมไม่สามารถกำหนดประเทศได้ ยังปลูกฝังว่าเรื่องรัฐประหารเป็นสิ่งจำเป็น และให้การบริหารแบบเบ็ดเสร็จเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้

ทุกวันนี้พรรคการเมืองยังล้มลุกคลุกคลาน องค์กรภาคประชาชนที่ว่ามีอำนาจพอสมควรก็ไม่สามารถกำหนดอนาคตประเทศได้ ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่รับรองการรัฐประหารว่าใครสามารถยึดอำนาจได้ก็ถือเป็นผู้มีอำนาจ ฉะนั้นหนึ่งบทเรียนการต่อสู้ของประชาชนคือความตระหนักเรื่องสิทธิเสรีภาพ

ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเสนอว่าขอให้มีการเลือกตั้งที่เสรีไม่มีการใช้อำนาจคสช.มาแทรกแซง และคัดค้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตลอด เราจะแก้ทั้งฉบับ แต่จะขวางอย่างสันติไม่ให้คสช.สืบทอดอำนาจได้อีก ถ้าคสช.ได้เป็นรัฐบาล พรรคเพื่อไทยยินดีจะเป็นฝ่ายค้าน

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่พรรคเพื่อไทยจะได้เสียงข้างมาก แต่การตั้งรัฐบาลเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่แค่การได้เสียงเกิน 250 เสียง โจทย์ทางการเมืองวันนี้เปลี่ยน พรรคจึงต้องเดินด้วยความไม่ประมาท อย่ามองเป็นของตาย เพราะไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเจออะไรอีกนอกจากพลังดูด

ส่วนการเลือก ผบ.ทบ.อยู่ที่ประชาชนว่าจะให้ผู้มีอำนาจคุมกองทัพได้มายึดอำนาจ หรือจะให้คนที่มาจากประชาชนมีอำนาจ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังกัน เรามีหน้าที่ใช้สิทธิเสรีภาพ กฎหมาย และคำสั่งต่างๆ ที่ออกโดยคสช.ต้องยกเลิก เพื่อเปิดโอกาสให้คนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้ ความรู้ด้านประชาธิปไตยก็จะก้าวหน้าได้

4.นายอนุทิน ชาญวีรกูล

หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย

การเมืองไทยไม่ผ่านตั้งแต่ปี 2535 ที่ผ่านมาประชาธิปไตยค่อนข้างมีบทบาท แต่ไม่เห็นด้วยถ้าเราเรียกตัวเองว่าเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยว่าจะสามารถมีการรัฐประหารได้ในประเทศ

ที่ให้ไม่ผ่านคือคนที่อยู่ในวงการประชาธิปไตยใช้ไม่เป็น ประชาธิปไตยจะต้องเป็นเรื่องปากท้องของประชาชน และเสียงของประชาชนเป็นใหญ่ ฉะนั้นเมื่อเราได้อำนาจของประชาชนและเขาไว้ใจเรา เราก็ควรไว้ใจและเชื่อใจเขา ฟังเสียงเขามากขึ้น และทำตามใจเขา ต่อไปประชาธิปไตยก็จะผ่านมาอย่างสวยงาม

การเลือกตั้งครั้งหน้าควรจะเป็นปี 2562 การเมืองไทยก็จะมีความสมบูรณ์ การไม่มีความทันสมัยคนทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ ต่อจากนี้ไปให้นึกถึงประชาชน ดูแลประชาชนอย่างดีจากข้าราชการ ไม่ใช่การข่มเหงประชาชน

ตนคิดถึงการที่ประชาชนลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน ประชาชนอยู่ดีกินดี อำนาจไหนก็เข้ามาไม่ได้ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่เราเองที่ทำให้เขาเข้ามาไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงเสื้อเหลือง เราอาจจะอ่อนด้อยต่อการเมืองในช่วงนั้นจึงมีคนเข้ามาได้ แต่ให้รู้ว่าไม่มีใครไม่เชื่อในระบอบประชาธิปไตย

อะไรที่เป็นประโยชน์ของประชาชนไม่ต้องไปแตะ ดังนั้น หากเลือกตั้งครั้งหน้ารัฐบาลนี้ยังอยู่แล้ว มีการกำหนด คำสั่งต่างๆ อะไรเพื่อเขา แบบนี้ต้องแก้

ส่วนการเลือกนายกฯ นั้น ยืนยันว่า นายกฯต้องมาจากประชาชน และเลือกโดยประชาชน ตนไม่เลือกนายกฯ ที่ส.ว.เป็นคนส่งมา

5.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ

หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ตนให้คะแนนประชาธิปไตยเพียง 1.97 คะแนน ไม่ได้ให้ตามอารมณ์ความรู้สึก แต่ตนเป็นวิศวกรจึงคำนวณตัวเลขตามหลักวิทยาศาสตร์

อุปสรรคของระบอบประชาธิปไตยคือการทำรัฐประหาร ตนฝันว่าการทำรัฐประหารต้องจบในรุ่นของตน ไม่ส่งต่อไปถึงลูกหลานอีก ถือเป็นภารกิจของตน การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน จากไพร่ที่ไม่มีปากเสียงมาสู่พลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน

อุปสรรคสำคัญของระบอบประชา ธิปไตย คือการที่มีคนอยู่กลุ่มเดียวรวบอำนาจ โดยใช้กองทัพทำรัฐประหาร ดังนั้นไม่ว่าวาทกรรม “คณะราษฎร์ ชิงสุกก่อนห่าม” หรือ “ปัญหาของประชาธิปไตยคือนักการเมือง” แต่สิ่งที่คนยังไม่พูดถึงคือการทำรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้ประชาธิปไตยไม่มีโอกาส เติบโต ประชาชนก็ไม่มีโอกาสลิ้มลองประชาธิปไตย

ถ้าไม่มีใครลุกขึ้นมาสานต่อประวัติ ศาสตร์จากรัฐสู่ประชาชน จากไพร่สู่พลเมือง ตนและพรรคอนาคตใหม่ขอรับภารกิจประวัติศาสตร์นี้ไปสานต่อ

ถ้าประชาธิปไตยแพ้เราจะอยู่กับคสช.อีก 4 ปี และยังมีในส่วนของส.ว. 250 คนที่ถูกแต่งตั้งอีก ถ้าเราแพ้การเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะมีขึ้น เราจะอยู่ต่อแบบนี้ไปอีก 8 ปี ถ้าไม่อยากอยู่กับอนาคต คือต้องชนะการเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยต้องได้เสียง 376 เสียง อย่าให้ใครมาติติงเราได้

ส่วนการจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ และเอาการบริการแบบคสช.หรือไม่ อยากให้ตอบคำถามสองข้อนี้ก่อน ถ้ายืนยันที่จะให้เสียงกับประชาชน เราจับมือกันแน่นเพื่อไม่มีการเกิดรัฐประหาร และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ฉะนั้นเราต้องล้มล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร แล้วประชาชนไทยจะยั่งยืน

สำหรับการเลือก ผบ.ทบ.ต้องทำให้รัฐบาลพลเรือนมีอำนาจอยู่เหนือกองทัพ ต้องมีการแก้พ.ร.บ.กลาโหมทั้งฉบับ อยากให้เชื่อพลังของประชาชนว่าจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้

ส่วนการเลือกนายกฯ ตนแฟร์พอที่ จะเชิดชูเสียงของประชาชน เพื่อไม่ให้ เกิดการรัฐประหารทางอ้อม แม้พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากจะเป็นพรรคที่มีความเห็นแตกต่างกันกับเราอย่างสิ้นเชิงก็ตาม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน