คอลัมน์ รายงานพิเศษ

ภายหลัง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าการเลือกตั้งในรูปแบบใหม่อาจส่งผลแบบประเทศสหรัฐ ที่พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากอาจไม่ได้เป็นรัฐบาล

ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์จากหลายฝ่ายตามมาในหลายแง่มุม ทั้งที่มองว่ามีโอกาสเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้

ขณะที่นักวิชาการ นักการเมือง และอดีตคณะกรรมกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) คิดเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร

ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่ง ม.เกษตรศาสตร์

สิ่งที่นายวิษณุแสดงความกังวลนั้นในทางทฤษฎีมีโอกาสเป็นไปได้ เพราะวิธีคิดเรื่องระบบเลือกตั้งของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ไม่ได้แตกต่างจากสหรัฐ

ช่วงก่อตั้งประเทศสหรัฐมีความไม่ไว้วางใจประชาชนจึงเลือกประธานาธิบดีผ่านโหวตเตอร์ ประเทศไทยกำลังจะซ้ำรอยสหรัฐเมื่อตอนที่เขาตั้งประเทศใหม่ๆ บนสมมติฐานว่าคนไทยไม่มีเหตุผลหรือวิจารณญาณเพียงพอในการเลือกผู้แทนของตัวเอง

ดังนั้นสิ่งที่นายวิษณุพูดจึงถูกต้อง ไม่ผิด แต่เราไปเอาสมมติฐานของสหรัฐเมื่อ 300-400 ปีมาแล้วมาพูดตอนนี้จึงเกิดความย้อนแย้งกัน

สิ่งที่น่าคิดคือเหตุใดผู้มีอำนาจจึงออกแบบให้ประเทศเดินแบบนี้ การออกแบบรัฐธรรมนูญแบบนี้จะนำไปสู่วิกฤตใหญ่ในประเทศ เพราะเราอาจเห็นพรรคการเมืองใหญ่ได้คะแนนจากประชาชนเยอะแต่ไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้

ที่บอกว่าจะเกิดวิกฤตเพราะสภาพการณ์สังคมไทยในปัจจุบันไม่เหมือนยุคก่อตั้งสหรัฐ หากวันหน้ารุ่นลูกรุ่นหลานถามถึงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นคนเหล่านี้ก็ต้องรับผิดชอบ

โอกาสที่จะเป็นอย่างที่นายวิษณุพูดได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ดูรัฐธรรมนูญฉบับนี้โดยเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะเห็นว่ามีเงื่อนไขต่างๆ จำกัดการตั้งพรรคให้ยุ่งยาก ไม่ว่าพรรคไหนชนะการเลือกตั้งจะถูกเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ถูกจำกัดส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนอีกพรรคจะไปรวมตัวกับอีกหลายพรรค

หากพรรคเสียงข้างน้อยได้จัดตั้งรัฐบาลก็จะไม่มีเสถียรภาพ การบริหารประเทศจะไม่เป็นไปตามนโยบาย เพราะจะถูกปกครองโดยระบบข้าราชการประจำ

ขณะนี้เห็นกันอยู่ว่ามีการเซ็ตซีโร่ มีการออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ให้มีพรรคเสียงข้างมากอยู่แล้ว จำกัดจำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงนายกฯคนนอกอยู่แล้ว

ถือว่านายวิษณุออกมาพูดช้าไปเพราะคงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว เพียงแต่วันนี้เราต้องคิดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ไม่ถือว่าเร็วเกินไป ไม่เช่นนั้นจะนำไปสู่ความรุนแรง

เกษม เพ็ญภินันท์

อักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ระบบการเลือกตั้งของสหรัฐต่างจากประเทศไทยที่โครงสร้างระบอบประชาธิปไตยเป็นแบบรัฐสภา อำนาจถูกใช้ร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ สภาตั้งนายกฯ ส่วนนายกฯ ก็มีอำนาจยุบสภา

สหรัฐเป็นแบบประธานาธิบดี แบ่งแยกอำนาจเด็ดขาดระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจยุบสภา ความแตกต่างกันของโครงสร้างทางการเมืองก็ไม่อาจนำมาเทียบกันได้

นัยยะคำให้สัมภาษณ์ของนายวิษณุ คือการเลือกตั้งครั้งถัดไปที่ ผู้ชนะอาจไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะอาจต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง สะท้อนว่าไม่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยตามรูปแบบของเรา ย้อนกลับไปสู่ยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ที่พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ สามารถเป็นนายกฯ ได้ถึง 8 ปี

ตอนนั้นพรรคที่ชนะการเลือกตั้ง ต้องดึงคนนอกมานั่งนายกฯ อันเกิดจากปัจจัยอื่นที่มากดดันสถาบันพรรคการ เมือง ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ นายทุน หรือพรรคร่วม เพื่อให้เกิดการรอมชอมฐานอำนาจ

เช่น พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายพิชัย รัตตกุล หัวหน้าพรรค ชนะการเลือกตั้ง แต่ไปเชิญคนนอกมาเป็นนายกฯ ส่วนหัวหน้าพรรคก็นั่งเก้าอี้ประธานสภา นั่นคือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

ทว่าปัจจุบันกระแสการเมืองประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะได้รับการยอมรับจากคนในประเทศและต่างประเทศ หากพรรคชนะการเลือกตั้งไม่ได้จัดตั้งรัฐบาลจะไม่ใช่เรื่องปกติเหมือนในอดีต

แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติเปิดช่องให้คนนอกเป็นนายกฯ ได้ แต่จะเกิดปัญหาเรื่องความชอบธรรม ผิดมารยาทตามครรลองธรรมทางการเมือง

สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ประชาธิปไตยในแบบที่ควรจะเป็น เนื่องจากบริบทและสถานการณ์โลกทุกวันนี้ต่างไปจากเดิมมากแล้ว ผู้นำทางการเมืองต้องได้รับการยอมรับจากประชาชนเท่านั้น

สดศรี สัตยธรรม

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

ตามที่นายวิษณุระบุ เนื่องจากคะแนนต้องไปเฉลี่ยให้กับปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งตามหลักการก็คือจะคำนวณคะแนนที่เหลือไปให้กับพรรคการเมืองขนาดเล็กๆ

แต่วิธีการแบบนี้อาจเป็นหนทางให้พรรคขนาดใหญ่มีพรรคนอมินีขึ้นมาก็ได้ คือเป็นพรรคที่ตั้งขึ้นมา แยกสาขาออกมา และคะแนนก็จะไปเฉลี่ยให้กับพรรคขนาดเล็กได้

เวลาจะเป็นรัฐบาลอาจเอาสาขาที่แยกออกไปมารวมกันหมด โดยที่เขาจะไม่บอกว่าเป็นสาขาของเขาเอง เพราะฉะนั้นการจะตั้งรัฐบาลในลักษณะการเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็คงจะหนีไม่พ้นพรรคใหญ่ โดยมีพรรคเล็กเป็นสาขาที่แยกแขนงแตกออกไป

เช่น พรรค ก. อาจจะตั้งพรรคการเมือง ข.หรือ พรรค ค. จากนั้นส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. แต่พรรค ข. กับพรรค ค. จะไม่ได้บอกว่าเป็นส่วนหนึ่งของพรรค ก. เพราะฉะนั้นเวลาจะมีการตั้งรัฐบาลขึ้นมา พรรค ก.ก็อาจรวมพรรค ข. พรรค ค. เข้ามาร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล

ดังนั้นคือคนที่ควบคุมพรรค ข. และ ค. คือ พรรค ก. นั่นเอง แบบนี้ก็เหมือนเดิม แน่นอนที่สุดว่าพรรค ก.ยังสามารถที่จะคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎรได้ วิธีการเหล่านี้ไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงสำหรับพรรคใหญ่ที่มีประสบการณ์

ส่วนตัวจึงมีความคิดเห็นว่าพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากจะไม่ได้เป็นรัฐบาลนั้นคงไม่ใช่แน่นอน เพราะคงจะมีพรรคเล็กที่อยู่ในเครือข่ายของพรรคใหญ่ และคะแนนเสียงพรรคเล็กก็จะขึ้นอยู่กับพรรคใหญ่ที่ควบคุมอยู่

ส่วนจะมีนายกฯ คนนอกหรือไม่นั้น ถ้าหากพรรคใหญ่รวมกับพรรคขนาดเล็กซึ่งเป็นสาขาของเขาได้ โอกาสที่จะมีนายกฯ ที่มาจากคนนอกคงเป็นเรื่องที่ลำบาก เพราะคิดว่านายกฯ น่าจะเป็นคนในที่เป็นส.ส.แน่นอน

แต่อย่างไรก็ตามพรรคใหญ่ๆ ก็กลัวว่าการทำงานของรัฐบาลข้างหน้าจะลำบาก เนื่องจากว่านโยบายต่างๆ ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งต้องผ่านการดูแลของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ด้วย

การทำงานทุกอย่างจะไม่ราบรื่นแม้ว่าจะมีเสียงข้างมากในสภา ผู้แทนราษฎรหลังจากรวมกับพรรคเล็กแล้ว แต่การดำเนินนโยบายต่างๆ ก็อาจจะถูกสกัด จึงมองว่าการอยู่รอดของพรรคที่เป็นรัฐบาลอาจอยู่ได้ไม่นาน

ระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่สกัดพรรคการเมืองใหญ่ไม่ให้มีเสียงข้างมากในสภาฯ ไม่ให้มีที่นั่งส.ส. แต่ถ้าวิธีการพรรคการเมืองใหญ่จะมีนอมินีก็ไม่มีอะไรห้าม การทำงานของพรรคการเมืองก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ที่จะมีปัญหาก็คือเรื่องนโยบายต่างๆ ที่อาจจะถูกสกัด หรือการทำงานอาจจะถูกตีความโดยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ จุดนี้เขาคงกังวลกันว่าการทำงานอาจไม่ราบรื่น

จุติ ไกรฤกษ์

เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

ตามที่นายวิษณุ ระบุการเลือกตั้งในรูปแบบใหม่อาจส่งผลแบบสหรัฐที่พรรคที่ได้เสียงข้างมากไม่ได้เป็นรัฐบาลนั้น คิดว่าถูกต้องที่สุด เป็นสัจธรรมของชีวิต

คือ 1.ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน 2.กติกาใหม่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร ฉะนั้นโอกาสพรรคใหม่กับพรรคเก่าน่าจะพอๆ กัน

3.ประชาชนอาจเบื่อนักการเมืองรูปแบบเก่า สไตส์เก่าๆ ถ้าไม่มีอะไรที่นำเสนอให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบและนโยบายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ในการนำพาประเทศ แต่กำลังสับสนว่ากติกาใหม่จะเปิดโอกาสให้คนใหม่มากน้อยแค่ไหน

4.ขอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ระมัดระวังกฎหมายที่ให้ประชาชนเป็นเจ้าของพรรค โดยการจ่ายค่าสมาชิก อาจเป็นดาบ 2 คมได้ เพราะคนจนมีอยู่มากในประเทศ เงิน 30-50 บาท ก็มีความหมาย

ถ้าให้เขาเลือกระหว่างค่าอาหารลูกกับจ่ายค่าสมาชิกพรรคเขาก็ต้องเลือกดูแลลูกก่อน ดังนั้นคนชนบทจึงไม่มีโอกาสมาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง คนที่เป็นสมาชิกพรรคจึงเป็นคนมีเงิน มีฐานะ

ถ้าเป็นอย่างนี้ถือเป็นการกีดกันคนจนออกจากระบบพรรคการเมือง พรรคการเมืองจะเป็นของคนชั้นกลางกับคนมีเงินเท่านั้น จึงอยากให้สนช.พิจารณาให้รอบคอบ

พรรคที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้คิดว่าตามกติกาสากลพรรคใดพรรคหนึ่งที่ได้เสียงเกิน 250 เสียงพรรคเดียว ก็มีโอกาสสูงในการจัดตั้งรัฐบาล แต่ถ้าไม่มีพรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงมากพอจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคเดียวก็ทำให้รัฐบาลผสมเกิดขึ้นได้

มีตัวอย่างมาแล้วเมื่อปี 2526 พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ได้เสียงข้างมาก แต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เพราะรวบรวมเสียงได้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภา ทำให้พรรคการเมืองต้องไปเชิญพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มาเป็นนายกฯ หรือเมื่อปี 2518 ประชาธิปัตย์เป็นพรรคใหญ่ที่สุดแต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

แต่ตอนนี้ยังไม่มีใครบอกได้ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล เพราะกติกายังไม่ออก ผู้สมัครยังไม่เห็น แต่รัฐบาลผสมก็มีจุดอ่อน อยู่ได้แค่ปีเดียวก็ล้มไป บ้านเราก็ทดลองมาแล้วทั้งนั้น ก็ปรากฏว่าขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา

หรือเมื่อมีพรรคใหญ่ที่มีอำนาจมาเป็นรัฐบาลก็กลายเป็นเผด็จการรัฐสภา ดังนั้นเสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์ ใครเข้าถึงประชาชน มีนโยบายโดนใจประชาชนพรรคนั้นก็ได้ประโยชน์ไป

ส่วนการตีความของนายวิษณุ อาจทำให้คนนอกแทรกเข้ามาเป็นนายกฯ ได้หรือไม่นั้น ไม่ได้คิดมากขนาดนั้นเพราะยังไม่เปิดตัวพรรคการเมืองเลย ไม่รู้ว่าเหลือกี่พรรค

นายวิษณุเพียงหยิบตัวอย่างว่าที่อังกฤษกับสหรัฐที่มีการพลิกล็อกผลการลงคะแนน แต่ของเราตอบไม่ได้ว่าจะมีการพลิกล็อกหรือไม่เพราะยังไม่เห็นนโยบายพรรคการเมืองและตัวผู้สมัครเลย

ส่วนจะเกิดกรณีพรรคเสียงข้างมากเลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ หรือไม่นั้น จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นสถานการณ์แบบนั้น เพราะทุกคนมีข้อจำกัดหมด ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ภูมิใจไทย หรือชาติไทยพัฒนา ยังมีความเป็นสีเสื้อ ความขัดแย้ง

ในขณะที่คนใหม่ก็อาจมีโอกาสที่มีความเป็นกลาง และสามารถรวบรวมได้ทุกสีเสื้อก็อาจเป็นได้ แต่ยังมองไม่เห็นว่าจะเป็นใคร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน