ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง มอบหมายให้มีผู้ดำเนินการตรวจสอบกรณีคลิปวิดีโอคอลของอดีตนายกรัฐมนตรี ที่สนทนากับสมาชิกพรรคเพื่อไทยว่าเข้าข่ายผิดตามมาตรา 9 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือไม่

ซึ่งบัญญัติห้ามผู้ใดซึ่งไม่ใช่สมาชิกกระทำการใดอันเป็นการควบคุม ครอบงำหรือชี้นำกิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความเป็นอิสระ ทั้งนี้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม

ส่วนจะเข้าข่ายมีความผิดจนถึงขั้นต้องยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ตามบัญญัติมาตรา 92 และมาตรา 93 ของกฎหมายเดียวกันหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม

แต่ขั้นตอนนี้อยู่ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม การทำความผิดตามกฎหมายนั้น ย่อมจะต้องมีหลักฐาน พยานและองค์ประกอบต่างๆ ของความผิดอย่างชัดเจน ผู้มีอำนาจตามกฎหมายจะต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ โปร่งใส และเป็นกลาง

เนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ที่มีอำนาจและหน้าที่หลัก โดยไม่ได้อยู่ในกำกับของฝ่ายบริหาร แม้จะอยู่ในช่วงรัฐบาลพิเศษ ก็ยิ่งต้องรักษาความเป็นอิสระอย่างแท้จริง

แม้พระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่พรรคการเมืองทั้งหลายทั้งที่กำลังขอจดแจ้ง จดทะเบียน และพรรคเดิมที่มีอยู่แล้ว ก็ยังมิอาจดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ เพราะมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 กำกับและควบคุมอยู่

การอ้างข้อกฎหมายที่นำเป็นเครื่องมือตรวจสอบครั้งนี้ จึงเป็นที่น่าสงสัย

ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวของบางกลุ่ม ที่มีความสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจ ที่เดินสายทาบทามอดีตส.ส.ให้เข้าร่วมกับพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้น ที่บางคนก็เปิดเผยตัวอย่างชัดเจน

อีกทั้งกระแสด้วยว่ามีการเสนอค่าตอบแทนให้ ทั้งทรัพย์สินเงินทอง รวมถึงหน้าที่ตำแหน่งกันล่วงหน้า หรือนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ให้ความสนใจแสวงหาข้อเท็จจริงหรือไม่

เพราะภารกิจครั้งหน้าคือการจัดการเลือกตั้งใหญ่ให้เกิดเป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ องค์กรที่รับผิดชอบเรื่องนี้ยิ่งจะต้องมีความน่า เชื่อถือ และอำนวยให้ทุกกลุ่มแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน

ความยุติธรรมจึงสำคัญอย่างมาก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน