คอลัมน์ รายงานพิเศษ

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ บทเฉพาะกาลยังรองรับให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ บอร์ดรัฐวิสาหกิจ ผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นยังปฏิบัติหน้าที่สนช.ต่อไปได้ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์

ยิ่งโดยเฉพาะข้อกำหนดที่เปิดช่องให้ สมาชิก สนช.นั่งยาวเป็นส.ว.สรรหา ต่อได้โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งสนช. ต่างจากการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ที่ต้องลาออกภายใน 90 วัน

มีความเห็นต่อประเด็นนี้ของนักวิชาการและอดีตส.ว.

2

อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

รัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

การทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติของ สมาชิกสนช.ตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมา แล้วจะต้องอยู่ทำหน้าที่ต่อไปช่วงสุด ท้ายอีกราวปีเศษช่วงเปลี่ยนผ่านนับจากรัฐ ธรรมนูญประกาศใช้ ก่อนได้ ส.ส.จากการเลือกตั้ง และส.ว.จากการแต่งตั้ง

ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ จึงต้องปรับให้คุณสมบัติของสนช.บังคับใช้เช่นเดียวกับส.ส. แต่ก็มีข้อยกเว้นให้บางส่วน เช่น ไม่ห้ามนั่งควบเก้าอี้ข้าราชการด้วย

มองว่าช่วงเปลี่ยนผ่านระยะสุดท้าย สนช. ยังมีความจำเป็นมากในทางนิติบัญญัติโดยเฉพาะการผ่านกฎหมายสำคัญที่ยังค้างอยู่ หากให้สนช.ที่เป็นข้าราชการ ต้องพ้นจากตำแหน่ง แน่นอนว่า สนช.จะหายไปเกือบครึ่ง แล้วก็หนีไม่พ้นการแต่งตั้งสนช.เข้ามาให้ครบ 250 คนเหมือนเดิม

สิ่งที่จะเกิดปัญหาตามมาอีกคือ ความต่อเนื่องในการทำหน้าที่ และความเชี่ยวชาญในการพิจารณากฎหมายแต่ละฉบับ สนช.ที่ต้องตั้งใหม่กว่าครึ่งต้องมาเรียนรู้งานกันใหม่หมด เมื่อมองในแง่ประสิทธิภาพการทำงานจึงทำให้เข้าใจถึงสาเหตุที่ กรธ.ต้องวางบทเฉพาะกาลวางข้อยกเว้นในส่วนนี้ไว้

เงื่อนไขการลาออกภายใน 90 วัน สำหรับ สนช. ที่อยากลงเล่นส.ส. แต่ขณะเดียวกันไม่กำหนดให้สนช.ต้องลาออก หากต้องการเข้ารับการสรรหาเพื่อให้คสช.แต่งตั้งเป็นหนึ่งใน ส.ว.สรรหา 250 คน

ในมุมสนช.ที่จะมาลงสมัครส.ส. กรธ.ต้องการขจัดความได้เปรียบเสียเปรียบและการขจัดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะหากไม่บังคับเช่นนี้ สนช.ที่ต้องการลงสนามเลือกตั้งจะได้ประโยชน์มหาศาล เพราะอยู่ในฐานะผู้ผ่านกฎหมายลูกที่วางกติกาการเลือกตั้ง ย่อมสร้างความได้เปรียบอย่างชัดเจนถ้าต้องการลงเลือกตั้ง

ข้อบังคับดังกล่าวจึงทำให้ สนช. ที่จะเล่นการเมืองต้องแสดงตัวให้ชัดแล้วลาออกไปเล่นในกติกาเดียวกับนักการเมืองอย่างยุติธรรม

ด้านการให้สนช.นั่งเป็นส.ว.สรรหาต่อได้โดยไม่ต้องลาออกนั้น ก็เป็นเรื่องปกติของการเมืองไทยที่จะสรรหาบุคคลเข้ามานั่งสภาสูง จากบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านเป็นพิเศษ หรือที่เรียกกันว่าเทคโนแครต เนื่องด้วยที่มาของส.ว.แต่งตั้งนี้จะไม่เป็นการเมืองในลักษณะที่ต้องหาเสียงปราศรัยโจมตีกัน ไม่มีคู่แข่งทางการเมือง

ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธถึงข้อสังเกตบางอย่างไม่ได้ว่า มีนักการเมืองอยู่กลุ่มหนึ่งที่อยู่ในอำนาจยาวนานต่อเนื่องตั้งแต่การเป็นสนช.ปี 2549 เมื่อครั้งคมช.รัฐประหาร ต่อด้วยส.ว.สรรหาตามรัฐธรรมนูญ 2550 เรื่อยมาจนรัฐประหาร 2557 และกำลังจะเข้ารับการสรรหาเป็นส.ว.ปี 2560 โดยมีวาระอีก 5 ปี

จนถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้มีผลงานประจักษ์ชัด เป็นที่ยอมรับถึงขนาดได้รับการสรรหาเรื่อยมายาวเกิน 10 ปี และขณะเดียวกันคนกลุ่มนี้จะถูกตรวจสอบน้อยกว่านักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเสียอีก

คำถามดังกล่าวจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่คสช.ในฐานะผู้มีอำนาจแต่งตั้ง ส.ว.สรรหา จะต้องทบทวนให้คำตอบแก่สังคมให้ได้ แล้วหากคำนึงถึงการปฏิรูปจริง ตัวบุคคลควรปรับเปลี่ยน เลิกเอาคนหน้าเดิมที่ถูกตั้งคำถาม

ควรเปลี่ยนเป็นหน้าใหม่ที่สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเมืองได้แล้ว เพื่อยืนยันว่ารัฐบาลต้องการปฏิรูปการเมืองไทยอย่างแท้จริง

ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยอยู่แล้วว่าเมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้วบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง สนช.ที่อาจมีชื่อเป็น ส.ว.สรรหา ไม่ต้องลาออกจากสนช.แต่ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะเป็นส.ว.สรรหา

ก่อนหน้านี้เราทุกคนต้องการให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ต้องการให้มีสภาผัวเมียหรือมีความสัมพันธ์ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมือง แต่สุดท้ายกลับปล่อยให้สนช.มาทำหน้าที่นักการเมือง

คนที่ใช้อำนาจรัฐก็คือนักการเมือง แต่ส.ว.สรรหาไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จากเดิมเป็นนักการเมืองจากการเลือกตั้งมาสู่การเป็นนักการเมืองที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ข้อดีคือกรธ.คงต้องการให้การทำงานต่อเนื่อง เพราะสนช.ต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะสมาชิกรัฐสภา มองในจุดที่ต้องการให้การทำงานต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ดี

หากสนช.ถูกคัดเลือกเข้าไปเป็นส.ว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลก็คงไม่เป็นปัญหาเรื่องการทำงาน ไม่เหมือนส.ว.ปี 2550 ที่ส.ว. มาจากสรรหาและเลือกตั้ง ก็จะมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งการทำงาน

แต่การยอมรับเรื่องความชอบธรรมทางการเมืองจะมีมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความเห็นประชาชน

ข้อเสียคือการไม่กำหนดว่าผู้ดำรงตำแหน่งส.ว.ต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น ในทางปฏิบัติยังมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ การรู้จักเป็นพรรคพวกก็คงหนีไม่พ้นเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์

เพราะสนช.เป็นฝ่ายที่พิจารณาร่างกฎหมายเองแล้วก็เป็นฝ่ายได้รับผลประโยชน์นั้นเอง จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนภายนอก ว่าอาจเกิดความไม่โปร่งใสในการคัดสรร

เสียงวิจารณ์เหล่านี้ คงแก้ไขยาก เพราะกรธ.มองแบบนี้จึงได้เขียนแบบนี้ แต่สิ่งที่กรธ.เขียนคงหนีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนไม่ได้

นอกจากนี้ การตั้งส.ว.สรรหายังมีข้อเสียเรื่องของการตรวจสอบรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ให้อำนาจส.ว.สรรหามีบทบาทสูงมากในการตรวจสอบควบคุมกำกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

แม้จะเห็นว่าการตรวจสอบรัฐบาลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การที่ส.ว.สรรหา จะมาตรวจสอบรัฐบาลจากการเลือกตั้งก็คงไม่ใช่เรื่องดี

สิงห์ชัย ทุ่งทอง

อดีตส.ว.อุทัยธานี

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยและไม่ควรที่คนเป็นสนช.แล้วยังสามารถรับตำแหน่งอื่นได้อีก และควรรับเงินเดือนเฉพาะตำแหน่ง สนช.เท่านั้น

คนมีความสามารถมีมากมาย ตั้งคนเกษียณอายุเข้ามาก็ได้ จุดนี้คสช.ก็เคยโจมตีนักการเมืองตอนเข้ามามีอำนาจ ดังนั้นการจะมาเป็นสนช.ก็ควรรับหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งเท่านั้น

เพราะคนที่มีความรู้มีมากมาย ไม่จำเป็นต้องเอาคนที่อยู่ในตำแหน่งอื่นๆ มาเป็นสนช. และควรทำให้เป็นมาตรฐานเดียวกับของนักการเมือง

ส่วนการให้สิทธิสนช.สามารถนั่งเป็นส.ว.สรรหาได้อีกหากได้รับการแต่งตั้งนั้น มีปัญหา คนที่รู้ว่าจะได้เป็นส.ว.ก็ไม่จำเป็นต้องลาออกจากสนช. แต่หากเป็นข้าราชการ หรือกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่างๆ หรือสภามหาวิทยาลัยก็ควรลาออก

ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะประเด็นนี้อาจกลายเป็นเงื่อนไขทำให้ฝ่ายการเมืองนำมาตีข่าวต่อประชาชน ทำให้สนช.ที่ทำหน้าที่ส.ว.ไม่มีความชอบธรรม เพราะเคยว่านักการเมือง และนักการเมืองก็เฝ้ามองดูอยู่ อาจทำให้การทำงานของสนช.ที่ไปเป็นส.ว.สรรหา ไม่ราบรื่นได้

ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้แล้ว และคนเป็นสนช.ที่รู้ตัวว่าจะได้รับการสรรหาเป็นส.ว.เลยก็ต้องลาออกจากการเป็นข้าราชการหรือกรรมการต่างๆ อยู่แล้ว เพราะไม่เห็นด้วยที่สนช.หรือส.ว.สามารถเป็นข้าราชการ เป็นกรรมการในบอร์ดต่างๆ ได้

อย่างไรก็ตาม หากตั้งสนช.เป็นส.ว.ต่ออีกคงหนีไม่พ้นเสียงวิจารณ์เรื่องการสืบทอดอำนาจ อาทำให้ฝ่ายการเมืองนำเอาจุดนี้มาโจมตีได้ จะทำให้การบริหารในส่วนต่างๆ ไปได้ลำบาก

การสืบทอดอำนาจไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายบริหารประเทศ และไม่เป็นผลดีต่อการขับเคลื่อนรัฐสภา แม้คสช.ไม่ได้ทำผิดอะไรหากจะทำเช่นนี้ เพราะเขามีอำนาจก็ต้องการคนที่ควบคุมได้ เอาคนที่ไว้ใจได้เข้ามาดูแลงานในทางรัฐสภา

แต่ส.ว.ที่มาจากสนช.ก็จะอยู่ลำบาก และจะกลายเป็นจุดที่ทำให้ฝ่ายการเมืองสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มของตัวเอง การเมืองจะเกิดความขัดแย้งและอยู่ได้ไม่นาน และทำให้ประเทศเสียโอกาสในการพัฒนา

ดังนั้น การเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะอยู่ได้ไม่ยืดจะเกิดการโจมตีกันจนทำให้สถานการณ์การเมืองและรัฐสภา มีความไม่มั่นคง

และสนช.ที่มาเป็นส.ว.จะทนไหวหรือไม่ เพราะเรื่องบางเรื่องฝ่ายการเมืองสามารถพูดน้ำให้กลายเป็นน้ำแข็งได้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และเป็นธรรมชาติทางการเมือง

ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการจะดีกว่า หากถูกโจมตีทุกวันแล้วการบริหารประเทศจะไปได้หรือไม่ การเมืองน่าจะไม่มั่นคง อาจมีการยุบสภาเร็วขึ้นถ้ายังยืนยันไปอย่างนี้

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน