วันนี้คำถามเรื่องการเมืองในสังคมไทย ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปหรือไม่ แต่อยู่ที่จะมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ และด้วยกระบวนการหรือวิธีการอย่างไร

หลักฐานที่ยืนยันชัดเจนเป็นอย่างยิ่งว่าเวลาของการเลือกตั้งใกล้เข้ามา ก็คือการที่กลุ่มการเมืองซึ่งมีความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจการปกครองในปัจจุบัน

สามารถออกเดินสาย “กวาดต้อน” อดีตนักการเมืองให้เข้ามาอยู่ในสังกัด รวมถึงดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์กับกลุ่มตน

หากมิใช่เวลาของการเลือกตั้งใกล้เข้ามา ย่อมไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเร่งดำเนินการเช่นนั้น

แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาล และคสช. ทั้งในฐานะที่เป็นผู้ดูแลกติกาและความสงบเรียบร้อยของสังคม และในฐานะที่ประกาศตนตั้งแต่ก่อนเข้ามายึดอำนาจการปกครอง ว่าจะทำให้ประชาธิปไตยและการเมืองใสสะอาดยิ่งขึ้น

จะต้องระมัดระวังท่าทีและการแสดงออกของตนเองให้อยู่ในกรอบที่เหมาะควร

เป็นสิทธิของคสช. หรือผู้สนับสนุนที่จะเสนอตัวให้ประชาชนพิจารณาเลือกตั้งเข้ามาเป็นตัวแทนในระบอบประชาธิปไตย

แต่สิทธินั้นจะต้องกระจายออกไปทั่วถึง เสมอหน้า แม้กระทั่งกับกลุ่มที่ต่อต้านคัดค้าน หรือกลุ่มที่ คสช. พิจารณายืนอยู่คนละฝั่งฝ่าย

ต้องมิให้เกิดภาพ “สองมาตรฐาน” เกิดขึ้นอีก

เพราะสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยแตกแยกร้าวฉานยาวนานมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนั้น ก็เกิดจากบังคับใช้กฎหมายที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรม

มีฝ่ายหนึ่งสามารถทำอะไรก็ได้ตามใจตนเอง และแทบไม่ต้องรับผิดชอบผลจากการกระทำ ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ว่าจะทำอะไรก็เป็นความผิดแทบทั้งสิ้น

หากรัฐบาล หรือ คสช. ในฐานะผู้รักษากติกายังมีส่วนสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดสภาพ สองมาตรฐานนี้ดำรงอยู่ต่อไป

ความพยายามหรือข้ออ้างที่ว่าจะสร้างความปรองดอง หรือคืนความสุขสงบให้กับสังคมก็ ไร้ความหมาย

และตอกย้ำให้เห็นความล้มเหลวของการรัฐประหาร หรือการใช้กำลังเข้าตัดสินปัญหาด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน