คอลัมน์ รายงานพิเศษ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพย วรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า โดยที่คณะองคมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งองคมนตรี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งดังต่อไปนี้

พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายเกษม วัฒนชัย นายพลากร สุวรรณรัฐ นายอรรถนิติ ดิษฐอำนาจ นายศุภชัย ภู่งาม นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช และพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา

มีผลทำให้เก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีว่างลง 2 ตำแหน่ง คือ รมว.ศึกษาธิการที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ เคยดำรงตำแหน่งและรมว.ยุติธรรม ที่พล.อ.ไพบูลย์ เคยดำรงตำแหน่ง

จึงเป็นที่จับตาว่าพล.อ.ประยุทธ์ จะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 4 อย่างไร

ฐิติพล ภักดีวานิช

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

รัฐบาลควรมีการปรับครม.นานแล้ว เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเดินหน้าไปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องรอ ให้ตำแหน่งว่างลงก่อน จึงค่อยดำเนินการ

แต่การปรับตำแหน่งรอบนี้เพื่อหาคนมาแทนรัฐมนตรีที่ได้รับ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี มองว่าควรเป็นการปรับเล็ก ไม่จำเป็นต้องปรับใหญ่ และจำเป็นต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญแต่ละด้านอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกัน ควรเปิดโอกาสให้พลเรือนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษา ธิการ ให้มาวางโครงสร้างส่งเสริมการเรียนรู้ด้านประชาธิปไตย แก่เยาวชนตั้งแต่รากฐาน

เช่นเดียวกับกระทรวงยุติธรรม ที่เรามีบุคลากรทางกฎหมายมากมาย ทั้ง ผู้พิพากษา อัยการ ตลอดจนนักวิชาการ สามารถอำนวยการบริหารงานด้านกฎหมายได้

จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลควรใช้พลเรือนในการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อแสดงความจริงใจ ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนกลับคืนสู่ประชาธิปไตย ด้วยการเลือกตั้งตามโรดแม็ปปลายปี 2560

มิเช่นนั้นภาพสะท้อนถึงนัยการวางตัวบุคคลมาทำงานด้านบริหารจะเป็นในลักษณะเดิมคือ เพื่อต้องการเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นหลัก ผ่านการใช้ทหารควบคุมข้าราชการพลเรือน

การปรับเปลี่ยนฝ่ายบริหาร จึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ของชาติ เป็นหลัก

อีกกระทรวงหนึ่งที่ควรใช้โอกาสนี้ปรับ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ การทำงานคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ควรเป็นบุคคลที่มี ความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง

เพื่อมาดำเนินการปรับโครงสร้างมาตรการการช่วยเหลือเกษตรกรให้ยั่งยืน นอกจากมาตรการฉีดเงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว

พัฒนะ เรือนใจดี

คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง

ขณะนี้การเดินตามโรดแม็ปถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของรัฐบาล เมื่อการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2560 ตามที่รัฐบาลประกาศไว้ เท่ากับว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช.จะอยู่บริหารราชการแผ่นดินอีกประมาณ 1 ปีเท่านั้น

หาก พล.อ.ประยุทธ์จะคัดเลือกบุคคลใหม่ๆ เข้ามาดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรมและรมว.ศึกษาธิการที่ว่างลง ซึ่งทั้งสองกระทรวงถือเป็น กระทรวงใหญ่และเป็นกระทรวงสำคัญ กว่าที่รัฐมนตรีใหม่จะเรียนรู้ งานอีก คงต้องใช้เวลามากพอสมควร หรืออย่างน้อยๆ ต้องใช้เวลาประมาณ 3-5 เดือนกว่าที่งานจะเข้าที่ ถึงตอนนั้นอาจจะไม่ทันกับ ห้วงเวลาที่เหลืออยู่ของรัฐบาล ดังนั้นส่วนตัวเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรปรับครม.ในส่วนตำแหน่งที่ว่างลง หรืออาจปรับครม. ไปพร้อมๆ กันเพียงไม่กี่ตำแหน่งเท่านั้น

ประเด็นสำคัญคือเพื่อให้การทำงานต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ ควรปรับโดยเอารัฐมนตรีเก่าในครม.ชุดนี้ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทน ในตำแหน่งที่ว่างลง ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนงาน ต่อเนื่องมากกว่าเดิม ที่สำคัญเป็นงานที่ต้องรับนโยบาย จาก พล.อ.ประยุทธ์โดยตรง ซึ่งรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนแล้วจะเข้าใจงาน ตามนโยบายได้ดีมากกว่า คนใหม่

เช่น อาจจะโยก พล.อ. ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี หรือนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอยู่แล้ว มาดำรงตำแหน่ง รมว.ยุติธรรม และอาจให้คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่รองนายกรัฐมนตรีแทนก็ได้ หรืออาจจะเลือกคนใหม่เข้าไปดำรงตำแน่งในส่วนของกระทรวงที่มีความสำคัญหรือบทบาทรองลงมา เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงแรงงาน เป็นต้น

นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนโดยการนำรัฐมนตรีชุดเดิมมาปฏิบัติหน้าที่แทนตำแหน่งที่ว่างลงแล้ว สิ่งสำคัญ คือจะต้องนำบุคคล ซึ่งสามารถทำงานสนองนโยบายของรัฐบาลได้ อย่างเช่นงานของกระทรวงยุติธรรมในขณะนี้ มีเรื่องร้อนๆ หลายเรื่อง เช่น คดีของ พระธัมมชโย คดีรุกป่าสงวน เป็นต้น จำเป็นต้องใช้คนในเข้ามาทำงาน ไม่เช่นนั้นอาจจะไม่ทันใจ พล.อ.ประยุทธ์

และไม่สามารถขับเคลื่อนผลงานในปีสุดท้ายให้เป็นที่ประจักษ์ได้

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การปรับครม. ครั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าขณะนี้คิดอะไร ถ้าคิด จะบริหารประเทศให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง มุ่งพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ก็จำเป็นต้องปรับครม. ครั้งใหญ่ เอาพลเรือนหรือคนจากหลายฝ่ายที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้าน มาช่วยกันทำงาน

ที่พูดแบบนี้ไม่ได้ดูถูกทหาร แต่การที่เอาทหารมาทำงานในครม.มากเกินไป ทำให้เกิดความเกรงใจของทหารด้วยกัน ไม่กล้าแสดงความเห็นกันเองว่าการทำงานดีหรือบกพร่องอย่างไร เพราะเป็นเพื่อนกัน

หากไม่ปรับครม.ใหญ่ ก็ยังไม่เห็นว่าประเทศจะดีขึ้นได้อย่างไร ถ้าปรับครั้งนี้ควรปรับเกิน 10 ตำแหน่งไปเลย ตรงไหนที่ทำงาน ไม่ได้ก็ต้องปรับออก โดยเฉพาะกระทรวงที่ต้องสร้างความสุข ให้ประชาชนเรื่องปากท้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ หรือแม้แต่กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีความใกล้ชิดประชาชน

ดังนั้น ต้องคิดกันใหม่เพื่อที่จะระดมความคิดจากทุกภาคส่วน มาช่วยกันทำงาน อย่าไปคิดว่าคนคิดต่างเป็นศัตรู ซึ่งนี่คือข้อเสียของคสช.มาตลอด เพราะที่จริงแล้วควรเรียกคนที่มีความรู้ ความสามารถ มาช่วยกันระดมสมองจริงๆ เนื่องจากประเทศเป็นของทุกคน

ทั้งนี้ รู้สึกเสียดาย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เพราะที่ผ่านมาเป็นคนเดียวที่ออกความเห็นท้วงติงในที่ประชุมครม.บ่อยๆ ซึ่งคิดต่างจากทหารทั้งหลาย ดังนั้น คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่แทน พล.อ.ไพบูลย์ ต้องเป็นคนเอาจริงเอาจัง ไม่กลัวใคร และใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม

ด้านการศึกษาที่ผ่านมาก็ใช้ไม่ได้เลย การพัฒนาไม่ตรงเป้า เพราะที่จริงแล้วเรื่องการศึกษาจะต้องวางแผนระยะยาวไว้ถึง 20 ปี และ ให้เห็นผลทุก 4-5 ปี

ส่วนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลงาน ด้านเศรษฐกิจ คิดว่ายังไม่เก่งพอที่จะเอาเรือลำนี้ผ่านมรสุมไปได้ เพราะนายสมคิด ไม่มีอะไรใหม่มีแต่แจกแล้วให้ จึงไม่เห็นว่ามีอะไรเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี

การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศเป็นเรื่องสำคัญ ที่ต้องการความมั่นคง ยั่งยืน ไม่ใช่แจกแล้วให้ ซึ่งขณะนี้คสช.กำลังเดินแบบนี้ทุกด้าน ผลที่จะตามมาในอนาคต คือรัฐบาลพลเรือนที่มาจาก การเลือกตั้งจะจับงานต่างๆ ไม่ถูก และยังต้องสะสางปัญหาเก่า ที่รัฐบาลทหารดำเนินการไว้

การปรับครม.ครั้งนี้ จึงอยากเห็นพลเรือนได้เข้ามาทำหน้าที่ อย่างเป็นรูปเป็นร่าง แม้ว่าหัวขบวนยังเป็นพล.อ.ประยุทธ์ ก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมการเข้าสู่ประชาธิปไตย

ส่วนคุณสมบัติของรัฐมนตรีใหม่ จะต้องเป็นพลเรือนที่เป็นคนกล้า ซื่อสัตย์ ไม่ได้เข้ามาทำงานเพื่อหาประโยชน์

ที่สำคัญต้องเสียสละ ก็จะสามารถช่วยทำงานให้ประเทศได้

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง

การที่มีรัฐมนตรี 2 ท่านได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นองคมนตรี ก็ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่แล้ว และเมื่อเป็นเช่นนี้ คิดว่านายกฯน่าจะถือโอกาสนี้ปรับครม.ครั้งใหญ่เลย โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ

และเห็นว่าน่าจะเป็นการปรับครม.ครั้งสุดท้ายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แล้ว ซึ่งอาจจะใช้เวลาในการปรับครม.น้อย เพราะท่านคงคิดมาแล้วว่าจะทำอย่างไร ซึ่งถือเป็นโอกาสที่เหมาะสมที่สุด

การที่เห็นว่านายกฯ น่าจะปรับครม.ใหญ่ แต่ควรปรับกี่กระทรวงนั้น พูดไม่ถูกเหมือนกัน แต่กระทรวงที่กำลังมีปัญหาอยู่ในตอนนี้คือกระทรวงด้านเศรษฐกิจ เพราะเวลานี้มีปัญหาเรื่องผลผลิตทางการเกษตร จะมีกระทรวงที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม

จึงคิดว่าถึงคราวแล้วที่จะใช้โอกาสนี้ปรับในเรื่องของเศรษฐกิจ เพราะอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการก็เรียกร้องให้มีการเพิ่มรัฐมนตรีช่วยอยู่แล้ว

ส่วนกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงยุติธรรม ที่รัฐมนตรีว่าการเป็นทหารทั้งคู่ หากตั้งรัฐมนตรีใหม่เข้ามาควรเป็นแบบไหน เห็นว่าสิ่งที่น่าพิจารณาคือที่ผ่านมานายกฯถูกมองว่าให้ความสำคัญกับทหารสูงกว่าคนกลุ่มอื่น

ดังนั้นการปรับครม.ครั้งนี้นายกฯ น่าจะดูคนจากฝ่ายพลเรือน และฝ่ายเอกชนให้เข้ามาร่วมในครม.มากขึ้น แทนที่จะดูเป็นรัฐบาลราชการเกินไป

ภาพเก่าของครม.เป็นทหารหนักไปหน่อย และวางคนไม่เหมาะสม ซึ่งค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลอาจจะต้องการเน้นเรื่องความมั่นคง การทำงานด้านเศรษฐกิจและสังคม จึงไม่ประสบความสำเร็จ เท่าที่ควร ก็ควรถือโอกาสนี้ดำเนินการโดยยืนทหารทางด้าน ความมั่นคงไว้ให้เหมาะสม

ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงอื่นๆ ก็ให้ข้าราชการหรือเอกชนที่มีความสามารถและเก่งเข้ามาทำงาน ส่วนกระทรวงยุติธรรม ต้องยอมรับว่าพล.อ.ไพบูลย์ เป็นคนที่มีคนยอมรับสูงมากขึ้น เพราะหลักการของท่านดี ดังนั้นหากคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีแทนน่าจะมาจากราชการก็คงไม่เป็นปัญหาอะไร

นอกจากนี้ ยังเห็นว่าการปรับครม.ครั้งนี้น่าจะถือเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว อยากให้ปรับออกมาแล้วเป็นความหวังของประชาชน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาคนยังรู้สึกผิดหวังกับการแก้ปัญหาด้านนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับครม.แล้วจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการบริหารประเทศดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ ซึ่งไม่ทราบว่านายกฯ จะคิดอย่างไร

แต่ถ้าเอาทหารมาเป็นรัฐมนตรีอีก อาจจะทำให้คนรู้สึกว่า เหมือนเดิม

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน