ระหว่างที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์ใหญ่ซ้อนสองเหตุการณ์เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติลงมติเอกฉันท์เห็นชอบต่อพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ไปแล้ว

ความสนใจในยุทธศาสตร์ชาติของประชาชนทั่วไปมีไม่มากนัก หรืออาจกล่าวว่ามีน้อยมาก

ยิ่งในสถานการณ์ที่ทุกคนติดตามข่าวใหญ่ที่จ.เชียงราย และจ.ภูเก็ต แทบไม่มีประเด็นใดๆ ให้พูดถึงหรือถกเถียงในสาระของยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ว่าในสังคมทั่วไปหรือโลกโซเชี่ยล

ปฏิกิริยานี้คล้ายกับเมื่อครั้งมีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยคณะบุคคลที่ ไม่เชื่อมโยงใดๆ กับประชาชน

หากสำรวจการรับรู้ของประชาชนทั่วไป ว่าร่างยุทธศาสตร์มีสาระสำคัญกี่ด้าน เป็นไปได้ว่าคนส่วนใหญ่อาจตอบผิด หรือ ขอไม่ตอบ เพราะไม่ได้มีความรู้สึกเกี่ยวพันด้วยนับแต่แรกเริ่ม

ร่างพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติที่ผ่านความเห็นชอบของสนช. แบ่งเป็น 6 ด้าน ได้แก่ ความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

แต่ละด้านมีรายละเอียดกว้างๆ เช่น เรื่องสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง มีคุณภาพ และเป็นพลเมืองดีของชาติ

คำบรรยายนี้มีความหมายกว้างๆ ที่อาจต้องตีความ

ในภารกิจช่วยเหลือทีมหมูป่าออกจากถ้ำ แสดงให้เห็นถึงรูปธรรมของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ว่ามีส่วนสำคัญมาก

เพราะในปฏิบัติการขั้นต่างๆ ต้องอาศัย ทั้งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ผู้มีทักษะและประสบการณ์พิเศษ รวมไปถึงอาสาสมัครทั่วไป

ผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษ เช่น การดำน้ำ สังเกตได้ว่ามาจากประเทศที่มีสังคมเปิดกว้างและมีเสรีภาพด้านการศึกษาวิจัย นอกจากการส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม

แต่การสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ให้ดี เก่ง มีคุณภาพ จะออกมาเป็นรูปธรรมอย่างไรนั้นอาจยังนึกภาพไม่ออก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน