ปัญหาหนี้ครูเป็นเรื่องยืดเยื้อยาวนานและแก้ไขยากยิ่ง เพราะฝ่ายกู้ยืมระบุมีความเดือดร้อนและลำบาก ส่วนฝ่ายให้กู้ยืมร้อนใจที่ไม่ได้เงินคืนเสียที

กระทั่งล่าสุดนี้ กระทรวงการคลังเห็นชอบให้ธนาคารออมสินดำเนินการตามกฎหมายต่อครูที่ไม่จ่ายหนี้ได้

มาตรการฟ้องร้องข้าราชการครูดังกล่าวเป็นมาตรการขั้นแข็งกร้าวและหวังผลในทันที เพราะการฟ้องร้องหมายถึงการทำให้ครูรายนั้นๆ เสียสภาพการเป็นข้าราชการ จะประกอบอาชีพนี้อีกไม่ได้

ในด้านหนึ่งอาจทำให้ธนาคารได้เงินคืนตามที่คาดหวังไว้ แต่ในอีกด้านหนึ่งฝ่ายครู ผู้ถูกฟ้องซึ่งอาจมีรายละเอียดที่ทุกข์ร้อนมากกว่าคำว่าเบี้ยวหนี้ ต้องเผชิญสถานการณ์ที่ยากลำบากกว่าเดิม

จากข้อมูลที่เผยแพร่กันอยู่ ปัจจุบันธนาคารออมสินมีลูกหนี้ครูราว 450,000 ราย กลุ่มที่ผ่อนชำระดีมี 400,000 ราย ส่วนกลุ่มที่ไม่สามารถชำระได้หรือเป็นหนี้เสียมีราว 20,000-30,000 ราย

แม้รัฐระบุว่า ครูกลุ่มที่มีปัญหาไม่จ่ายหนี้ส่วนใหญ่เกษียณอายุแล้ว จึงไม่น่ากระทบต่อการฟ้องร้องของธนาคารแต่อย่างใด

แต่การรับฟังข้อมูลและรายละเอียดของลูกหนี้แต่ละรายนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ควรให้ความใส่ใจ

ดังที่เลขาธิการสมาพันธ์ครูภาคใต้ขอให้สังคมและรัฐบาลมองครูอีกด้านหนึ่ง ไม่ใช่ตราหน้าครู ไม่มีวินัยทางการเงิน ฟุ่มเฟือย จ่ายเกินตัวเท่านั้น

กรณีที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มครูในนามกลุ่มมหาสารคาม ประกาศปฏิญญามหาสารคาม เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2561 ขอให้รัฐบาลและธนาคารออมสินพักหนี้โครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) ทุกโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 นั้น ตรงกับช่วงเวลาที่กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสำนักงาน ธนาคารออมสินทั่วประเทศได้รับหนังสือเวียนให้เร่งดำเนินการฟ้องคดีกับลูกหนี้สินเชื่อครู และบุคลากรทางการศึกษา ตามขั้นตอนของธนาคาร

การปะทะกันของสองแนวทางนี้น่าเป็นห่วง

ทั้งยังทิ้งคำถามให้รัฐบาลและสังคมต้องขบคิดว่า ผู้ประกอบวิชาชีพครูเกษียณแล้วยังยากจน อีกทั้งยังจะถูกดำเนินคดีเพราะติดหนี้นั้นเป็นเพราะตัวบุคคลหรือระบบที่ต้องแก้ไข

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน