แผนสืบทอดอำนาจผ่านพลังดูด ดำเนินไปอย่างดุเดือดเข้มข้น

การจัดประชุมครม.สัญจรอุบลราชธานี-อำนาจเจริญ ระหว่างวันที่ 23-24 ก.ค. ตกเป็นเป้าโจมตีของฝ่ายตรงข้ามว่า เป็นการหาเสียงล่วงหน้าในช่วงโค้งสุดท้ายของรัฐบาล ด้วยการเร่งอัดฉีดงบประมาณ นับแสนล้านภายใต้โครงการประชารัฐ

มีการตั้งข้อสังเกตนับตั้งแต่ปลายปี 2560 เป็นต้นมา หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเล่นบทนักการเมืองเต็มตัว รวมถึงการมีสัญญาณสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจนและเป็นระบบ ผ่านการจัดตั้งพรรคการเมืองรองรับ

รัฐบาลคสช.ได้จัดโปรแกรมครม.สัญจรอย่างถี่ยิบ โดยเมื่อวันที่ 25-26 ธ.ค.2560 สัญจรไปพิษณุโลก-สุโขทัย, 5-6 ก.พ. สัญจรจันทบุรี-ตราด, 5-6 มี.ค. สัญจรเพชรบุรี-ประจวบฯ, 7-8 พ.ค. สัญจรบุรีรัมย์-สุรินทร์ และ 11-12 มิ.ย. สัญจรภาคเหนือตอนล่าง นครสวรรค์-พิจิตร

ส่วนสาเหตุที่ครม.สัญจรอุบลฯ-อำนาจเจริญ ตกเป็นเป้าวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่ม ว่ามีนัยการเมืองแอบแฝง ก็เนื่องจากทั้ง 2 จังหวัด เกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่ฐานเสียงส.ส.พรรคเพื่อไทย

นอกเหนือจากครม.สัญจร ความเคลื่อนไหวที่ทำให้การเมืองก่อนโค้งสุดท้ายร้อนแรงขึ้นมาอีกระลอก คือการที่แกนนำกลุ่มพลังดูด โชว์รายชื่อแกนนำและสมาชิกนปช.อีสานกว่า 200 คน

อ้างว่าเป็นรายชื่อคนที่ต้องการมา ร่วมงานกับพรรคของตนเอง ถึงขั้นเตรียม ขออนุญาตรัฐบาลและคสช.จัดประชุมใหญ่ระหว่างกลุ่มพลังดูด กับสมาชิกนปช. เพื่อเช็กชื่อ อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

แน่นอนว่าพลังดูดที่เบนเป้าไปยังกลุ่มนปช.คนเสื้อแดงอีสานครั้งนี้ แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็อ่านออก ว่าเป็นแผนสลายกองหนุนพรรค เพื่อไทย ให้เหลือที่ยืนหลังเลือกตั้งน้อยที่สุด

ในทางการเมืองนั้นเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า นปช.คนเสื้อแดงอีสาน คือฐานมวลชนขนาดใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคเหนือ ที่น่าจะเป็นเป้าหมายต่อไป

กระแสพลังดูดครั้งนี้ ถึงแม้จะสร้างความ หวั่นไหวให้กับสมาชิกนปช.อยู่บ้าง แต่ในระดับแกนนำกลับไม่ได้แสดงอาการตื่นตกใจ

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำนปช. ระบุให้ถือเอาพลังดูด เป็นบททดสอบ

ที่ผ่านมาหลังการต่อสู้เพื่อหลักการประชา ธิปไตยมาอย่างยาวนานนับสิบปี และการเสียสละของวีรชน 99 ศพ ที่วันนี้ยังไม่ได้รับความยุติธรรม สรุปแล้ว

ใครคือนปช.แท้ ใครไม่ใช่

“เป็นเรื่องดีที่พี่น้องทั่วประเทศตื่น แต่ไม่ต้องเต้น กลุ่มสามมิตรกำลังทำหน้าที่หน่วยคัดแยกให้ ใครเป็นใครเห็นกันหมด ถ้าเราทำเองคงไม่เห็นตัวตนของแต่ละคนชัดขนาดนี้ หากยังตั้งหน้าดูดกันอยู่ ก็อยากให้เร่งทำให้เสร็จ เอาใครไปได้ก็ให้รีบเอาไป จะได้เลือกตั้งกันเสียที” นายณัฐวุฒิ ระบุ

ต่อการเดินสายจัดประชุมครม.สัญจรถี่ยิบในช่วงใกล้เลือกตั้ง

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย เรียกร้องสิ่งที่รัฐบาลและคสช.ควรทำ คือเปิดโอกาสให้ทุกพรรคทำกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเท่าเทียม ตามกฎหมายพรรคการเมืองที่บังคับใช้แล้ว

สำหรับสิ่งไม่ควรทำคือ การจัดครม.สัญจร โดยใช้งบประมาณแผ่นดินไปสร้างความนิยม สร้างเงื่อนไขให้นักการเมืองในแต่ละพื้นที่มาสนับสนุนผู้มีอำนาจ

รวมถึงการใช้งบประมาณจำนวนมากในโครงการประชารัฐ ซึ่งต่อมามีการใช้ชื่อโครงการมาเป็นชื่อพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ เพื่อรองรับการสืบทอดอำนาจ เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน

ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวดูดอดีตส.ส.ในขณะนี้ว่า

หากพิจารณาข้อห้ามตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ห้ามมิให้ผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป จะเห็นได้ว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นการห้ามเด็ดขาด

ปัญหาจึงมีอยู่ว่า อะไรคือการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมาฝ่ายผู้ถืออำนาจ ตีความไม่อยู่กับร่องกับรอย ยกตัวอย่าง

กรณีสมาชิกพรรคเพื่อไทยแถลงวิจารณ์ผลงาน 4 ปีของรัฐบาลคสช. กลับถูกแจ้งความเอาผิด กล่าวหา ขัดคำสั่งหัวหน้าคสช. แถมพ่วงมาตรา 116 ฐานยุยงปลุกปั่น

แต่ในขณะเดียวกันกลุ่มพลังดูด ซึ่งแสดงออกโดยเปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ทางการเมือง ในการดูดอดีต ส.ส.ไปร่วมพรรค ตั้งโต๊ะแถลงข่าวหลายครั้ง จำนวนเกิน 5 คน แต่ฝ่ายความมั่นคงกลับนิ่งเฉย

แถมแกนนำรัฐบาลบางคน รวมถึงกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่างก็ออกมาปกป้องแก้ต่างให้ด้วยซ้ำว่าไม่ผิด จนนำมาสู่คำถามจากสังคมว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

ก่อนครม.สัญจรลงพื้นที่อุบลฯ-อำนาจเจริญ เกิดกระแสข่าวว่า

อาจมีอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยส่วนหนึ่ง ไปรอต้อนรับ ในฐานะเจ้าบ้าน จนถูกมองว่าต้องการถือโอกาสนี้ เปิดตัวย้ายค่ายไปอยู่กับพรรคสนับสนุนคสช.

ผลพวงของครม.สัญจรและพลังดูด ยังแผ่อิทธิพลลุกลามไปยังจังหวัดอื่นในภาคอีสาน ที่เป็นฐานเสียงพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจังหวัด เลย สุรินทร์ นครราชสีมา ฯลฯ

อดีตส.ส.บางคนที่เช่าพื้นที่ทหารทำธุรกิจตลาดชายแดน ถูกกดดัน หากไม่ออกจากพรรคเดิมอาจต้องถูกขอคืนพื้นที่ทำกิน บางคนถูกบีบด้วยปัญหาการเงินและปัญหาส่วนตัว

นอกจากนี้ช่วงหลังยังเปลี่ยนมาใช้เงื่อนเวลาเป็นตัวบีบ ให้อดีตส.ส.เร่งตัดสินใจย้ายพรรค ว่าต้องย้ายมาช่วงนั้นช่วงนี้ ถ้าไม่มาอาจจะมีคู่แข่งทำให้ชีวิตยุ่งยาก

หรือหากไม่รีบออกมาก็ต้องรับความเสี่ยงที่พรรคจะถูกยุบ จากกรณีการ เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ถ้าเป็นอดีตรัฐมนตรีก็จะหยิบเอาเรื่องเงินเยียวยาม็อบเสื้อแดงมาข่มขู่

อีกปัจจัยที่เป็นแรงโน้มน้าวอดีตส.ส. ให้เห็นคล้อยตามมากที่สุด

คือผลจากการปั่นกระแสให้สังคม เห็นว่า ขณะนี้อดีตส.ส.และนักการเมืองจำนวนมาก ไม่ว่าพรรคไหนหรืออิงกับสีใด ต่างเห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจของ รัฐบาลคสช. และพร้อมให้การสนับสนุนกลับมาเป็นผู้นำประเทศอีกสมัย

ยิ่งหากดูจากการจัดทำโผโยกย้ายบิ๊กทหารประจำปี โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการ 3 เหล่าทัพ ปลัดกลาโหม และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทดแทนคนเดิมที่กำลังจะเกษียณอายุราชการพร้อมกัน

โดยบิ๊กทหารที่คาดว่าจะมาดำรงตำแหน่งสำคัญนี้ ได้แก่ พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ รองปลัดกลาโหม ขยับขึ้นเป็นปลัดกลาโหม พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี เสนาธิการทหาร บก.ทสส. ขยับขึ้นเป็น ผบ.ทสส.

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผบ.ทบ. ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ รองผบ.ทร. ขึ้นเป็น ผบ.ทร. และพล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ผู้ช่วยผบ.ทอ. ขึ้นเป็น ผบ.ทอ.

หากยึดเอาโรดแม็ปการเมืองเป็นตัวตั้ง

เท่ากับว่าโดยตำแหน่ง ผบ.ทั้ง 3 เหล่าทัพ ผบ.ทสส. และปลัดกลาโหม จะต้องเข้าไปเป็นส.ว. และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะมีบทบาท ควบคุม และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลหน้า อีกด้วย

นอกจากนี้ก่อนโรดแม็ปเลือกตั้งจะมาถึง รัฐบาลคสช.ยังเหลือคิวจัดทำโผโยกย้ายใหญ่ นายตำรวจ และข้าราชการระดับสูงของทุกกระทรวง ทบวง กรมอีกครั้ง ช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้

เหล่านี้ล้วนฉายให้เห็นเส้นทางการสืบทอดอำนาจ ซึ่งถูกวางมาอย่างสอดรับเป็นระบบ

เหลือแค่ขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนสำคัญ อยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน จะเอาด้วยหรือไม่

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน