บทบรรณาธิการ

ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นที่รัฐบาลระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่าเป็นภัยร้ายแรงของโลก ทำให้ระบบการบริหารราชการล้มเหลว ขาดความต่อเนื่อง มีผลประโยชน์ทับซ้อนกระทบต่อการบริหารงบประมาณ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ ส่งผลด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา

คงเป็นเรื่องที่ผู้คนรับทราบและเห็นด้วยอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง

แต่การประกาศวางมาตรการและยุทธศาสตร์ชาติไว้ล่วงหน้า 20 ปี พร้อมกับการต่อต้านคอร์รัปชั่น อย่างจริงจังนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ยังต้องขบคิดต่อไป

โดยเฉพาะวิธีการที่จะนำมาใช้นั้นจะทำให้เกิดผลหรือไม่อย่างไร

รัฐบาลมองกรอบการแก้ปัญหาไว้เพื่อไม่ให้เปิดทางการทุจริต ได้แก่ การทำให้แต่ละครอบครัวอยู่ได้ พัฒนาตัวเองให้มีรายได้สูงขึ้น

ต่อมาคือไม่ให้ช่วยเหลือกันในระบบพวกพ้อง และไม่ให้เจ้าหน้าที่หาช่องทางทุจริต

หน่วยงานต่างๆ ต้องทำงานเชื่อมโยงกัน ส่งเสริมให้ข้าราชการอยู่ในกรอบธรรมาภิบาลเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ บริหารการใช้จ่ายอย่างถูกวิธี จัดทำแผนแม่บท มีระยะเวลาการใช้เงิน ฯลฯ

การมีมุมมองเช่นนี้คงไม่ได้แตกต่างจากความหวังของประชาชนทั่วไป

สิ่งสำคัญในการต่อต้านการคอร์รัปชั่น อยู่ที่กลไกของการป้องกัน การตรวจสอบ และการลงโทษ

เรื่องที่พบเห็นทุกวันนี้ โดยเฉพาะการเรียกรับเงินพิเศษที่ประชาชนหรือเอกชนสมยอมมอบผลประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อแลกกับความสะดวก หรือเพื่อให้ได้ชื่อว่ากระทำการอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย กลายเป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการทุจริตอย่างกว้างขวาง

การแก้ไขเรื่องนี้จึงน่าจะเป็นการคลายอำนาจรัฐและกระจายอำนาจให้ประชาชน มีทางเลือกที่จะยุติการสมยอมในรูปแบบคอร์รัปชั่นนี้

เพื่อจะให้เห็นผลอย่างจริงจัง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน