โมเดลเลือกตั้ง รับมือ‘หิมะถล่ม’

โมเดลเลือกตั้ง

การเมืองประเทศเพื่อนบ้าน มักถูกนำมาเปรียบเทียบสถานการณ์การเมืองภายในไทยอยู่เสมอ

โดยเฉพาะเรื่องเลือกตั้ง สิ่งที่ประเทศไทยห่างเหินมานานเกือบ 8 ปี นับตั้งแต่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ได้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนถูกกองทัพ ยึดอำนาจบริหารประเทศในเดือนพ.ค.2557

อย่างการเลือกตั้งในมาเลเซีย ที่ได้ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี อีกครั้งในวัย 92 ปี สร้างความตื่นตะลึงไปทั่วโลก

จนมีการนำเปรียบเทียบกับนักการเมืองอาวุโสของไทยบางคน อย่างนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น ว่าน่าจะทำได้บ้าง

แต่เจ้าตัวได้ปฏิเสธ ยังคงหนุนหลังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนปัจจุบัน ต่อไป

ล่าสุดการเลือกตั้งกัมพูชา ผลปรากฏว่าเรียบร้อยโรงเรียน “ฮุน เซน” ไปตามระเบียบ พรรคประชาชนกัมพูชา หรือซีพีพี ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล สามารถกวาดส.ส.ได้ 125 ที่นั่ง จากทั้งหมด 125 ที่นั่ง

เป็นชัยชนะแบบร้อยเปอร์เซ็นต์

ถึงฮือฮา แต่ไม่น่าแปลกใจ

การแข่งขันครั้งนี้ถึงไม่มี “พลังดูด” เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พรรคฝ่ายค้านหลัก คือพรรคกู้ชาติกัมพูชา ถูกกกต.กัมพูชาสั่ง “ยุบพรรค” ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผู้บริหารพรรคถูกไล่ล่าจนต้องหนีออกนอกประเทศ

การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จึงเหลือแต่พรรคปลาซิวปลาสร้อย ไม่มีพิษสงพอจะต่อกรกับพรรครัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน ได้เลย

ขณะที่สื่อหนังสือพิมพ์ กระบอกเสียงประชาชนที่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ก็ถูกอำนาจเบ็ดเสร็จสั่งปิดเรียบ

กล่าวกันว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองกัมพูชา

อาจเป็นการจุดประกายให้กับผู้นำรัฐบาลบางประเทศ ที่ต้องการสืบทอดอำนาจต่อ แต่ไม่มั่นใจว่าพรรคของตัวเองจะชนะพรรคคู่แข่งในการเลือกตั้งได้

“ฮุนเซนโมเดล” จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง

กลับมายังการเมืองไทย กลางสัปดาห์ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ประกาศย้ำโรดแม็ปอีกครั้ง

ปีหน้าอย่างไรก็ต้องมีเลือกตั้ง เว้นแต่จะตีกันจนเลือกไม่ได้

ทั้งนี้ หากยึดตามที่นายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯ เคยแถลงหลังการหารือร่วมระหว่างรัฐบาล คสช. กกต. และตัวแทนพรรคการเมือง เมื่อปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

เกี่ยวกับปัจจัย 5 ข้อ ที่จะบอกได้ว่าการเลือกตั้งจะมาช้าหรือเร็ว

1.ความสงบเรียบร้อยระหว่างงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2.การได้รับพระราชทานกฎหมายลูกการเลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. 3.การผลัดเปลี่ยนกกต.จากชุดเก่าไปชุดใหม่ 4.การจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่ต้องไม่ตรงกับการเลือกตั้งระดับชาติ และ 5.ความสงบเรียบร้อยทั่วไปของประเทศ

สำหรับปัจจัยความสงบเรียบร้อย ถ้ายังเป็นเหมือนวันนี้ก็ยังวางใจได้ แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาในอนาคต ก็จะกระทบต่อกำหนดเวลาเลือกตั้ง

สอดคล้องกับคำยืนยันของพล.อ.ประยุทธ์ที่ว่า ปีหน้ามีเลือกตั้งแน่ เว้นแต่จะตีกันจนเลือกไม่ได้

นอกจากนี้ยังได้วางตุ๊กตา “วันเลือกตั้ง” ไว้

โดย กกต.อยากให้เป็นวันอาทิตย์สัปดาห์สุดท้ายของแต่ละเดือน คือวันที่ 24 ก.พ.62 หรือ 31 มี.ค.62 หรือ 28 เม.ย.62 หรือสุดท้าย 5 พ.ค.62 ส่วนเป็นวันใด กกต.ชุดใหม่จะเป็นผู้กำหนด

นอกจากยืนยันชัดเจน ปีหน้ามีเลือกตั้งแน่ ส่วนตัวของพล.อ.ประยุทธ์เอง ยังลดดีกรีความดุเดือด

ประกาศรูดซิปปาก งดตอบโต้การเมืองทุกประเด็น ขอใช้เวลาที่เหลืออยู่อีกไม่ถึงปี มุ่งสมาธิไปยังการทำงานแก้ปัญหาให้ประเทศชาติและประชาชน

อย่างที่เห็น ไม่ว่าอนุมัติผ่านสารพัดเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคม ครบทุกระบบทั้งบก ราง น้ำ อากาศ มูลค่านับล้านล้านบาท หวังเป็นตัวชูโรงขับเคลื่อนการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้าย

ยังไม่นับมาตรการเอาใจชาวฐานราก ตามที่ครม.สัญจรอุบลฯ-อำนาจเจริญ ไฟเขียวทุ่มงบประมาณ 9.8 หมื่นล้าน พยุงราคาข้าวช่วยเหลือชาวนา

ตามด้วยโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร ลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือธ.ก.ส. จำนวน 3.8 ล้านราย เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.2561 ถึงวันที่ 31 ก.ค.2564

ส่วนอะไรที่เป็นประเด็นการเมืองร้อนๆ

อย่างกรณี นายนคร มาฉิม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ แฉแหลกเบื้องหน้าเบื้องหลังขบวนการสมคบคิด ประกอบด้วยฝ่ายอนุรักษนิยม นายทุน กลุ่มขุนศึก และเครือข่ายข้าราชการ ร่วมมือกันล้มล้างประชาธิปไตย

โค่นทำลายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ที่มีนายกฯ มาจากขั้วการเมืองตรงข้าม

หรือกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อาศัยฤกษ์งานเลี้ยงวันเกิดครบ 69 ปี ซึ่งจัดขึ้นที่ร้านอาหารในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จวกแหลกรัฐบาลจากการรัฐประหาร ไม่เป็นสุภาพบุรุษ

ต้องการยื้อเลือกตั้ง ลากยาวอำนาจ

ทั้งแสดงความมั่นใจเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งแบบ “หิมะถล่ม” ซึ่งมีพลังความรุนแรงน่ากลัวกว่าแลนด์สไลด์ หรือดินถล่ม

ก็ไม่ได้ยินเสียงตอบโต้จากท่านผู้นำเหมือนเคย

หรือแม้แต่เรื่องลับที่ไม่ลับ กรณีสถานทูตไทยในอังกฤษทำจดหมายถึงกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ

ขอให้ทางการอังกฤษ ดำเนินการส่งตัวน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งต้องโทษจำคุก 5 ปีในคดีโครงการรับจำนำข้าว กลับประเทศไทยในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน ที่เพิ่งความแตกออกมา

พล.อ.ประยุทธ์ ก็ชี้แจงแบบนิ่มๆ

เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อัยการสูงสุด และกระทรวงการต่างประเทศ ดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ซึ่งเป็นเรื่องของประเทศนั้นๆ พิจารณาว่าจะส่งหรือไม่ส่ง

ลดโทนดุดันลงอย่างเห็นได้ชัด

ส่วน”พรรคพลังดูด”ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันอื้ออึง

ลากดึงเอารัฐบาลและคสช.ตกเป็นเป้า ถูกพรรคขั้วตรงข้ามทั้งเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์รุมถล่มโจมตี เครดิตเสียหายไปด้วย

ระยะหลัง จึงได้เห็นพล.อ.ประยุทธ์ เริ่มตีกรรเชียงหนี อ้างไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพลังดูด เพราะถึงตอนนี้ตนเองยังไม่ตัดสินใจแน่ชัด ว่าจะไปร่วมกับพรรคการเมืองใด

จึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องเฝ้าดู

สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์จะไปเข้ากับพรรคพลังดูด อย่างที่คาดการณ์กันไว้หรือไม่ ถ้าจำไม่ผิด พล.อ.ประยุทธ์เคยพูดไว้เองว่าจะตัดสินใจอนาคตทางการเมืองภายในเดือนก.ย.ที่จะถึงนี้

กับการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง เว้นแต่จะตีกันจนเลือกไม่ได้

มีความเห็นจากนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุ ตามผลโพลพบว่านายทักษิณ ชินวัตร ยังเป็นที่หนึ่งครองใจประชาชน

ทั้งหมดเป็นความผิดของผู้มีอำนาจ

หากรัฐบาลไม่สืบต่ออำนาจ เชื่อว่านายทักษิณต้องพ่ายแพ้ แต่เมื่อรัฐบาลคิดอยู่ต่อ เขาก็กลับมาชนะ ต้องโทษทหารที่ทำเสียของ

ถ้าไม่ระวังตัว คิดอยู่ต่อ ความน่าเชื่อถือจะหมดลง เพราะไหนจะเรื่องที่ไปดูดนักการเมืองพรรคเพื่อไทย ก็เกิดความไม่ชอบธรรมแล้ว ทำให้ผลสะวิงกลับมาสู่ฝ่ายยึดอำนาจเสียเอง

หากเป็นไปตามที่นายนิพิฏฐ์ วิเคราะห์ไว้

การเลือกตั้งในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ผู้นำรัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างสูง

ก็นับเป็นโมเดลที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน