ตามบทบัญญัติของกฎบัตรอาเซียน “ประธานอาเซียน” เป็นตำแหน่งสูงสุดของอาเซียน ดำรงตำแหน่งวาระ 1 ปี ตำแหน่งประธานอาเซียนจะหมุนเวียนกันในประเทศสมาชิกตามลำดับตัวอักษร

สิงคโปร์เป็นเจ้าภาพในปีนี้ และถัดจากตัวอักษร S ก็คือ T ประเทศไทย ที่จะขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปี 2562

โฆษกรัฐบาลไทยย้ำว่า การทำหน้าที่ประธานอาเซียนเป็นเรื่องของประเทศไทย และคนไทยทุกคน ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง

คำพูดนี้ถูกต้อง และเป็นคำอธิบายหลังจากมีผู้จุดประเด็นว่า บุคคลที่เป็นผู้นำประเทศของไทยและจะต้องเป็นประธานอาเซียนโดยตำแหน่งนั้นต้องมีความสง่างามทางการเมือง ได้รับการยอมรับจากผู้นำทุกประเทศ รวมถึงสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป

การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน ไม่เพียงเป็นหน้าเป็นตาของประเทศนั้นๆ แต่ยังหมายรวมถึงภูมิภาคอาเซียนโดยรวม

ดังนั้นแม้อาเซียนมีหลักการชัดเจนว่าชาติสมาชิกไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน แต่เมื่อเป็นเรื่องของประชาคมโดยรวมแล้วต้องคิดให้กว้างและลึกกว่าเดิม

กรณีตัวอย่างของอาเซียนที่เคยเป็นบรรทัดฐานของอาเซียนเกิดขึ้นเมื่อปีที่เมียนมาจะต้องขึ้นเป็นประธานอาเซียนในปี 2549

ชาติสมาชิกถกเถียงทั้งเป็นการภายในและเป็นข่าวออกสื่อ ว่าผู้นำรัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจไม่เหมาะสมจะขึ้นเป็นประธานอาเซียน เนื่องจากจะเป็นปัญหาต่อประชาคมเอง

สุดท้ายแล้ว พล.อ.อาวุโสตาน ฉ่วย ไม่ได้ขึ้นเป็นประธานอาเซียน ตำแหน่งนี้ข้ามไปยังผู้นำประเทศฟิลิปปินส์

เมียนมาได้ขึ้นเป็นประธานอาเซียนครั้งแรกในปี 2557 ในสมัยของประธานาธิบดี เต็ง เส่ง ผู้มาจากการเลือกตั้งในปี 2554

แม้การเลือกตั้งในปีนั้นยังเป็นที่กังขา เนื่องจากพรรคการเมืองหลักอย่างเอ็นแอลดี ไม่ได้เข้าร่วมลงสนามแข่งขัน แต่ด้วยผลงานปฏิรูปการเมืองอย่างต่อเนื่องของรัฐบาลเต็ง เส่ง เปิดเผยชัดเจนต่อประชาคมโลก ทำให้เมียนมาไม่ถูกกระแสต่อต้านเท่าเดิมอีก

ปี 2557 กลับเป็นปีที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์รัฐประหารและกระบวนการทางประชาธิปไตยหยุดชะงักมาถึงปัจจุบัน

แม้ตำแหน่งประธานอาเซียนจะเป็นของประเทศไทยก็จริง แต่การที่ตัวแทนของประเทศไทยจะต้องเป็นตัวแทนของทั้งอาเซียน เป็นเรื่องที่ไทยเองต้องตระหนักและเกรงใจเพื่อนร่วมภูมิภาค

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน