“รายงานพิเศษ”

กรณีกองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 ออกข้อปฏิบัติของ ช่างภาพสื่อมวลชนที่จะเข้าถ่ายภาพ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ (คสช.)

โดยวางข้อควรปฏิบัติ 7 ข้อและ 7 มารยาทในการ บันทึกภาพ อาทิ ต้องอยู่ในลักษณะเคารพต่อนายกฯ และแสดงความเคารพทั้งก่อนและหลังถ่ายภาพ กล้องที่จะนำมาบันทึกภาพ ต้องผ่านการตรวจและติดแท็กที่ได้รับอนุญาตจากตำรวจสันติบาล ในการถ่ายภาพควรอยู่ห่างจากนายกฯ 5 เมตร เป็นอย่างน้อย

ไม่ควรเบียดเสียดกันถ่ายภาพหรือถ่ายภาพลักษณะ ยืนค้ำศีรษะผู้อื่นหรือยื่นกล้องถ่ายภาพในลักษณะถ่ายภาพข้ามท่าน ต้องไม่ถ่ายภาพตรงหน้าขณะที่นายกฯอยู่ในห้องรับรอง ห้ามถ่ายภาพขณะเดินขึ้นหรือลงจากที่สูง เช่น บันได ห้ามถ่ายภาพขณะรับประทานอาหาร ห้ามออกนอกสถานที่ที่เจ้าหน้าที่จัดไว้ วิ่งตัดหน้า วิ่งลุกลนหรือห้อมล้อมกีดขวางทางเดิน ให้บันทึกภาพได้ในจุดหรือสถานที่ที่เจ้าหน้าที่ได้จัดไว้เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสวยงาม การใช้ไฟฉายใช้ได้ ในทุกโอกาส แต่การถ่ายไฟไม่ควรเกิน 1,500 วัตต์และควรอยู่ห่างจากห้องรับรอง เป็นต้น

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารตั้งแต่ปี 2558 ไม่เข้าใจว่าทำไมถูกนำมาเผยแพร่ตอนนี้ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์กันในกลุ่มสื่อมวลชนและคนที่ได้พบเห็น โดยนายกฯ ไม่ต้องการให้เกิดความเข้าใจผิด หรือเกิดปัญหาการทำงานระหว่างทีมนายกฯและสื่อมวลชน

ขณะที่นักวิชาการ มีความเห็น ดังนี้

1.ยุทธพร อิสรชัย

รองอธิการบดี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

ในระบอบประชาธิปไตยนั้นเสรีภาพในการแสดงออก หรือแสดงความคิดเห็นถือเป็นหลักการสำคัญ และสื่อมวลชนเป็นช่องทางที่สำคัญที่จะแสดงความคิดเห็น ข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงกระบวนการ ทำหน้าที่ตรวจสอบของผู้ที่อยู่ในภาครัฐ

ถ้าจะมีข้อบังคับในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อ จะมีผลกระทบหลักเหล่านี้ และยังจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นใน ต่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบทางอ้อมทางด้านเศรษฐกิจ

แม้วันนี้มีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับสื่อ เยอะ แต่อยากให้มองอีกมุมหนึ่งว่าจะเป็นบทพิสูจน์ให้รัฐบาลได้ทำให้เห็นว่ากระบวนการของไทยนั้นกำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง หรือคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นประชาธิปไตยต่อไป

ส่วนในคำสั่งดังกล่าว ถ้าเป็นจริง คงไม่ได้เป็นผลดีอะไรกับรัฐบาล และคงต้องมีคำอธิบายที่มีน้ำหนักพอว่าการกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติเช่นนี้เพื่ออะไร ถ้าบอกว่าเพื่อการรักษาความปลอดภัยนั้นก็ต้องดูว่ามาตรฐานความปลอดภัยจำเป็นต้องทำถึงขนาดนี้หรือไม่

และต้องถามอีกว่าการทำความเคารพก่อนและหลังการถ่ายภาพจะช่วยลดความปลอดภัยได้จริงหรือไม่ เพราะผู้นำทั่วโลกคงไม่ได้มาคิดมากในเรื่องนี้ แต่การปฏิบัติอย่างนี้คงเป็นเพียงวิธีคิดแบบระบบราชการไทยเท่านั้น

คำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีผลบวกอะไร แต่ในทางกลับกันมีกระแสหลายเรื่องที่เป็นเรื่องขาลงของรัฐบาล ฉะนั้นไม่ควรนำเรื่องอื่นเพิ่มเติมให้เกิดเป็นประเด็นจะดีกว่า

ที่ผ่านมายังไม่มีปรากฏว่ามีคำสั่งดังกล่าวออกมาถ้ามองในแง่แรงกระเพื่อมรัฐบาลนั้นคงไม่มี แต่เรื่องการวิจารณ์อาจจะมีบ้าง เป็นเพียงการเมืองรายวัน ด้วยเรื่องไม่ได้ใหญ่พอที่จะไปสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาลได้ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่นายกฯถูกวิจารณ์มากกว่า

แต่ไม่แน่ใจว่าคำสั่งดังกล่าวนั้นนายกฯรับทราบเรื่องด้วยหรือไม่ บางทีอาจจะเป็นคำสั่งของฝ่ายรักษาความปลอดภัยของทำเนียบรัฐบาลเพียงเท่านั้น

ส่วนจะเป็นคำสั่งเก่าหรือใหม่นั้นต้องมาดูกันว่าแม้เป็นคำสั่งเก่าจะมีผลบังคับหรือไม่ ซึ่งคำสั่งในทางราชการถ้าไม่มีคำสั่งใหม่ออกมายกเลิกคำสั่งเก่าหรือไม่มีเหตุที่ให้คำสั่งถูกยกเลิกก็ยังบังคับใช้คำสั่งนั้นอยู่

เรื่องนี้ต้องมีหลักฐานว่าเป็นคำสั่งใหม่หรือเก่า ซึ่งในคำสั่งนั้นจะมีวันที่ออกคำสั่งหรือหลักฐานอื่นๆ อยู่บ้าง

ถ้าคำสั่งดังกล่าวมีอยู่จริงหรือไม่ ก็ไม่ควร เพราะในสังคมประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพไม่มีการกำกับควบคุมสื่อในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์กับสังคม ควรไปกำกับในเรื่องที่เป็นประโยชน์ เรื่องที่จะกระทบสังคม และการไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากกว่า แต่กรณีการสัมภาษณ์หรือ ถ่ายภาพนายกฯผู้ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะ ในพื้นที่สาธารณะ ไม่ควรเป็นเหตุที่ต้องมาสั่งห้ามกัน

แต่ถ้านายกฯอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวหรือไม่ใช่เวลางานก็อ้างได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

2.คณาธิป ทองรวีวงศ์

ผอ.สถาบันกฎหมายสื่อดิจิทัล ม.เกษมบัณฑิต

นายกฯคือนักการเมืองคนหนึ่ง ถือเป็นบุคคลสาธารณะ แน่นอนว่าย่อมมีสิทธิส่วนบุคคลคล้ายบุคคลทั่วไป ตามฎีกาจะระบุชัดว่า นักการเมืองและข้าราชการ ย่อมสามารถให้สังคมเข้าถึงได้มากกว่า เพราะต้องได้รับการตรวจสอบ เมื่อเทียบกับบุคคลแล้วเสรีภาพของนายกฯก็ดูจะน้อยกว่า

ในวงการสื่อสารมวลชนจะมีขอบเขตในการทำข่าว ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของแหล่งข่าว ตัวอย่างที่ไม่เหมาะสมก็พบได้จากปาปารัสซี่ในต่างประเทศ ที่หลายกรณีเข้าข่ายลักษณะคุกคามสิทธิส่วนบุคคลของแหล่งข่าว

ต่อกรณีล่าสุดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลออกกฎคุมสื่อ วางมารยาทช่างภาพ 7 ข้อ และข้อควรปฏิบัติในการบันทึกภาพ 7 ข้อ นั้น มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เป็นสิ่งที่สามารถรับได้ สอดคล้องตามหลักสากล เมื่อมองในแง่ความปลอดภัยของบุคคลสำคัญ เช่น การสแกนตรวจค้นวัตถุหรืออาวุธต้องสงสัย ที่อาจนำมาใช้ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งหากกำหนดเพียงเท่านี้ ก็น่าจะครอบคลุมไม่ต้องออกรายละเอียด

เพราะกฎกติกาที่เหลือส่วนใหญ่ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและไม่มีความจำเป็น อย่างการห้ามบันทึกภาพขณะรับประทานอาหาร ห้ามถ่ายจากที่สูงลงมา ห้ามถ่ายสวนระหว่างขึ้น-ลงบันได ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมจึง ต้องห้าม

เช่นเดียวกับการกำหนดให้ใส่รองเท้าหุ้มข้อ การเว้นระยะห่าง การเบียดเสียด การยื่นไมค์ไปใกล้ปากจนเกินไป หรือการทำความเคารพ ก็ไม่จำเป็นต้องระบุไว้ ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถรับรู้ได้โดยมารยาท ช่วยกันดูแลตักเตือนกันได้เอง อยู่แล้ว

ที่อันตรายที่สุดคือ การเปิดเผยของผู้สื่อข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า การกำหนดให้ช่างภาพต้องลงทะเบียน พร้อมระบุเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ให้เจ้าหน้าที่ก่อนเข้าทำข่าว ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับสื่อมวลชน หลายครั้งต้องให้สำเนาบัตรประชาชน หรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายภาพบัตรประชาชนด้วย

ทั้งหมดนี้ถือว่า ขัดต่อหลักความจำเป็น ในสังคมดิจิตอล เลขบัตรประชาชน 13 หลัก สามารถนำไปใช้ทำธุรกรรม หรือระบุตัวตนส่วนบุคคลได้ทันที การเก็บข้อมูลในส่วนนี้ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่รัฐต้องตอบกรณีที่เกิดขึ้นให้ได้ว่า คำสั่งดังกล่าว มีกฎหมายตัวไหนมารองรับ ต่อการกระทำ และความปลอดภัยในการจัดเก็บข้อมูลเป็นอย่างไร

หากเป็นการดำเนินการตามแต่ละหน่วยงานโดยไม่มีกฎหมายมารองรับ ก็สุ่มเสี่ยงต่อการรั่วไหลของข้อมูลอย่างแน่นอน เนื่องจากไม่ได้ทำเป็นระบบ ยิ่งหากใช้แอพพลิเคชั่นในการส่งต่อข้อมูลไปยังบุคคลอื่นๆ ก็ยิ่งจะสุ่มเสี่ยงต่อการ รั่วไหลมากขึ้นเท่านั้น

ตัวอย่างล่าสุดคือ ธนาคารที่ถูกเจาะข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับบริการจำนวนมากอีกครั้ง ทั้งที่ธนาคารมีระบบการรักษาความปลอดภัยไซเบอร์สูงกว่าหน่วยงานรัฐ ยังถูกเจาะอยู่เป็นระลอก

การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานจากภาครัฐมักจะอ้างเรื่องความมั่นคง ซึ่งไม่ผิด แต่ต้องคำนึงถึงหลักการได้สัดส่วนประกอบกันได้ เช่น ประชาชนเข้ารับบริการสวัสดิการของรัฐ โดยใช้เลข 13 หลักระบุตัวตน ถือว่าเหมาะสม แต่ถามว่า สื่อมวลชนจะทำข่าวหรือถ่ายภาพนายกฯ แล้วต้องระบุเลข 13 หลัก นั้นสมเหตุสมผลหรือไม่

รัฐบาลนี้ชอบเลข 13 หลัก บนบัตรประชาชน เพื่อยืนยันว่า รัฐบาลมีตัวตนอยู่ในทุกๆเรื่อง โดยมีพื้นฐานความคิดง่ายๆว่า ในโลกดิจิตอลรัฐต้องมีความมั่นคง ถ้ารู้เลขบัตรประชาชนที่สามารถใช้ระบุตัวตนได้แล้ว ก็จะหาตัวได้ง่าย ใช้เป็นหลักฐานมัดให้ดิ้นไม่หลุด

3.ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

โดยปกติคำสั่งลักษณะแบบนี้มักจะพบเห็นได้โดยทั่วไปในระบบราชการไทย เชื่อว่าคงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกรณีของสื่อมวลชนกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคสช.เป็นกรณีแรกหรือกรณีเดียว กรณีที่เกิดขึ้นระหว่างนายกฯกับสื่อนั้นยังเป็นเพียงแค่ยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น

ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาระบบราชการไทยโดยเฉพาะข้าราชการ มักมองประชาชนต่ำต้อยกว่าเสมอ เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นได้ชัดเจน เชื่อว่ายังมีคำสั่งที่มีเนื้อหาหรือสาระที่ทำให้ประชาชนต้อยต่ำอีกเยอะ

ในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้เริ่มมีความเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นให้เห็นชัดเจน โดยเฉพาะที่เรียกกันว่ารัฐราชการ ซึ่งมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้น ยังดีว่า พล.อ.ประยุทธ์เข้าใจและมีคำสั่งยกเลิกได้ทัน ดังนั้นอยากให้พล.อ.ประยุทธ์ปูพรม โดยให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม พิจารณายกเลิกคำสั่งที่ทำให้ประชาชนต้อยต่ำออกให้หมด ไม่ให้มีเหลือแม้แต่คำสั่งเดียว

ที่พูดเช่นนี้เพราะจะสังเกตเห็นว่าเวลาประชาชนเดินทางไปติดต่อราชการ หรือไปทำธุรกรรมตามสถานที่ราชการต่างๆ ยังคงมีระเบียบข้อปฏิบัติที่เยอะและยุ่งยาก ทำให้ประชาชนรู้สึกอึดอัด ทำให้รู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่ตนไม่ได้รับบริการที่ดี หรือเท่าที่ควรจะได้รับ บางส่วนทำอะไรก็ผิดไปหมดเนื่องด้วยขั้นตอนที่ ยุ่งยากและไม่จำเป็น

สถานที่ราชการบางแห่งก็ต้องยอมรับว่ายังมีกรณีที่ต้องจ่ายใต้โต๊ะกันถึงจะได้รับบริการ ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้หากนายกฯ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญขอให้ยกเลิกทุกคำสั่งภายในหนึ่งเดือน

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะนายกฯ ถูกกระแสการเมืองรุมเร้าจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ จนเกิดคำสั่งดังกล่าวขึ้นนั้นมองว่าไม่น่าจะเกี่ยวกัน เรื่องนี้เป็นปัญหาของระบบราชการไทยที่ไม่ค่อยเห็นหัวประชาชนมากกว่า

ขณะที่นายกฯ เองก็โตมาจากราชการ ท่านจึงอาจไม่รู้สึกถึงความผิดปกติดังกล่าว และอาจเป็นเรื่องของความคุ้นชิน ก็เป็นได้

ยิ่งบ้านเมืองยังไม่กลับสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย คนที่อยู่ในฝ่ายบริหารมักจะคุ้นชินกับระบบแบบนี้ แต่เรื่องแบบนี้จะปล่อยให้สังคมคุ้นชินไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าคนเราไม่เท่ากัน

จึงขอให้ พล.อ.ประยุทธ์รีบจัดการยกเลิกทุกคำสั่ง ยิ่งทำเร็วก็ยิ่งดี เร่งปฏิรูปและรื้อถอนเรื่องแบบนี้ให้เร็วที่สุด

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน