“รายงานพิเศษ”

เป็นประเด็นที่เริ่มลุกลาม หลังสนช.เสนอแก้พ.ร.ป.ว่าด้วยกกต. เพื่อโละผู้ตรวจการเลือกตั้ง ที่กกต.เพิ่งเคาะรายชื่อ 616 คน

ไม่เพียงกกต.ที่เห็นต่าง กรธ.เองก็มองว่าเรื่องนี้ สนช.ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายองค์กรอื่น

ขณะที่มุมมองจากนักวิชาการและอดีตกกต. เห็นว่าสนช.ไม่ควรแก้กฎหมายที่ร่างขึ้นมาเอง

1.โคทม อารียา

อดีต กกต.

ตามหลักกฎหมายจะใช้เป็นการทั่วไปอย่างเท่าเทียมกัน ก็ควรเขียนไว้สำหรับอนาคตยาวๆ ถ้าเขียนกฎหมายมาไล่ตามปัญหา หรือว่ามองแต่ผลเฉพาะหน้าก็รู้สึกว่าไม่น่าจะเป็น อย่างนั้น

จะออกกฎหมายเฉพาะเพื่อการเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้ง ไม่ใช่ใช้เครื่องมือใหญ่โตโดยยังไม่แน่ใจสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนจะถูกผิดอย่างไรสังคมก็ไปวิเคราะห์กันเอง

และไม่ทราบว่าที่จะแก้นั้นวิธีการอื่นปรับเปลี่ยนหรือไม่ ถ้าพบภายหลังไม่เหมาะสมอย่างที่กกต.ชุดปัจจุบันดำเนินการก็อยู่ในกรอบที่เขาทำได้ ถ้าผลออกมาไม่ชอบมาพากลก็เป็นหน้าที่ของกกต.ชุดใหม่ที่จะต้องดูแล

องค์กรอื่นจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการทำงานของกกต.ไม่น่าจะดี สนช.กำลังจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระอย่างกกต. มีหน้าที่ออกกฎหมายก็ออกไป ไม่ควรเข้ามายุ่งกับองค์กรอื่น

การขอแก้พ.ร.ป.กกต.ของสนช.มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่เห็นว่าผู้ออกกฎหมายต้องมองระยาว ไม่ควรเป็นกังวลจนเกินไป ถ้าแก้กฎหมายจะใช้เฉพาะกรณีนี้หรือไม่ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มีหน้าที่พิจารณา แต่กรณีนี้มองว่าไม่เหมาะ

ยังไม่รู้ว่าจะโละผู้ตรวจการเลือกตั้งที่สรรหามาแล้วกว่า 600 คน จริงหรือไม่ แต่คนที่เขาได้รับเลือกมาเขายังไม่ได้ทำอะไรเลยแล้วบอกว่าไม่เหมาะสม และการสรรหาเป็นกระบวนการตามปกติที่กกต.ทำหน้าที่ ส่วนการเลือกเหมาะสมหรือไม่ก็อยู่ที่วิจารณญาณของกกต.ชุดปัจจุบัน

แต่หากโละจริงๆ ก็ไม่กระทบทันที ต้องดูว่ากกต.ชุดใหม่จะเลือกอย่างไร เป็นไปได้คงเอาบางคนออก เอาบางคนเข้า และไม่ใช่ว่าคนที่ถูกกกต.เก่าเลือกมาหมดสิทธิ์ แต่ถ้าปรับเปลี่ยนโดยสิ้นเชิงก็เหมือนเลือกพวก อาจปรับปรุงบางส่วนให้ดีขึ้น

ส่วนที่กกต.มีท่าทีไม่อยากทบทวน โดยอ้างว่าอาจไม่ทันการเลือกตั้งส.ว.นั้น อะไรก็ทันได้ทั้งนั้นไม่ต้องเป็นห่วง สมัยก่อนยุบสภาเลือกตั้งภายใน 45 วันก็ยังทัน เพราะเจ้าหน้าที่ก็มีความชำนาญกันทั้งนั้น ต่างประเทศประมาณ 2 สัปดาห์ก็เลือก ตั้งแล้ว

ดังนั้น ทันไม่ทันการเลือกตั้งก็ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของผู้มีอำนาจ ซึ่งไม่น่าเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ดังนั้นควรให้ว่าไปตามบทที่เขียนอย่าไปแต่งบทมากนัก

หากมีการแก้พ.ร.ป.กกต.จริงๆ ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบถึงโรดแม็ปการเลือกตั้งที่ทำให้ต้องเลื่อนออกไป เพราะถ้าเขาจะอ้างอะไรที่จะเลื่อนโรดแม็ปก็หาได้อยู่แล้ว

ไม่คิดว่าเรื่องนี้เป็นการสมคบคิดกัน มีแต่เพียงบางคนในหมู่สนช.ที่ไม่ถูกใจก็ควรพิจารณาให้ละเอียดในแง่หลักการว่าควรเข้ามาทำงานในทำนองหรือไม่

2.ธนพร ศรียากูล

นายกสมาคมรัฐศาสตร์แห่งม.เกษตรศาสตร์

ต้องยอมรับก่อนว่ากกต.ชุดที่กำลังจะพ้นไปในทางกฎหมายยังทำหน้าที่ได้อยู่ กระบวนการสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้งก็ดำเนินการจนเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนสนช.ที่จะขอแก้ไขเป็นเรื่องที่อธิบายยากว่าทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์หรือไม่ สนช.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่แม่น้ำทุกสายก็เป็นคอเดียวกัน

อะไรที่เคยเห็นดีเห็นงามพอไม่ได้ดั่งใจก็ไปแก้กฎหมาย สะท้อนว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็ทำอะไรไม่เห็นหัวคนอื่น และยังสะท้อนว่าความเป็นเอกภาพของแม่น้ำ 5 สาย มีปัญหาในการทำงานร่วมกันแล้ว และเมื่อแม่น้ำ 5 สายมีความแตกแยก สิ่งที่คสช.ควรทำคือรีบจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เพราะกลไกที่ตั้งมาทำงานไม่ได้แล้ว

พอเห็นรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งไม่เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเองก็อยากล้มกระดาน แต่ทำแบบนั้นไม่ได้จึงอยากแก้กฎหมายหรือไม่ ข้างหนึ่งก็เดินสายดู อีกข้างก็เขียนกฎกติกาให้ตัวเองชนะ ถ้าทำจริงก็คงเกิดวิกฤตในอนาคต

หากโละผู้ตรวจการเลือกตั้งคงไม่ต่างจากในอดีตที่มักกล่าวหากกต.จังหวัดว่าทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะความพยายามที่จะแก้กฎหมายนี้ก็มองได้ว่าจะใช้ประเด็นนี้เพื่อเอาเปรียบในชัยชนะ

ส่วนตัวมองว่ากกต.ชุดเก่าได้ทำหน้าที่ของเขาไปแล้ว ชุดใหม่จึงควรเคารพในสิ่งที่เขาทำไว้หากสิ่งนั้นไม่ผิดกฎหมายและหลักยุติธรรม

เชื่อว่าความสัมพันธ์ระหว่าง กกต.กับรัฐบาล จะกระทบแน่นอน แต่ต้องดูต่อไปว่าเมื่อเข้ามาทำหน้าที่จะซ้ายหันขวาหันหรือไม่ และถ้ากกต.ไม่จัดการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับได้ก็จะเกิดวิกฤตอีก

3.ยอดพล เทพสิทธา

คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

ข้ออ้างจากสนช.ที่จะแก้ไขพ.ร.ป.กกต.ที่ว่ากกต.ดำเนินการอย่างเร่งรีบเกินไป ควรให้กกต.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่จะดีกว่า อีกทั้งผู้ตรวจรการเลือกตั้งหลายรายมีความสัมพันธ์กับ เจ้าหน้าที่กกต.

และการเปิดรายชื่อก่อนจะทำให้สุ่มเสี่ยงในการเปิดช่องให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งรู้จักคนทำหน้าที่ตรวจสอบ จนอาจส่งผลให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมนั้น

ก็ต้องยอมรับว่าส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลทางการเมือง น่าจะมีนัยยะแอบแฝงอะไรที่จะสืบเนื่องต่อกำหนดการเลือกตั้งที่ขณะนี้ผ่านเข้าสู่กลางปี 2561 แล้วก็ยังไม่มีอะไรชัดเจน การเคลื่อนไหวเสนอร่างแก้ไขกฎหมายลูกว่าด้วยกกต.นี้ จะกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งที่คสช.วางไว้ต้นปี 2562 หรือไม่ก็ไม่รู้

จึงมองว่าคำอธิบายจากสนช.เพื่อจะแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้ต้องโละ 616 ผู้ตรวจการเลือกตั้งเป็นเพียงข้ออ้าง เพราะต่อให้รู้ชื่อ 616 ผู้ตรวจการเลือกตั้งแต่ละจังหวัด แต่ก็ยังไม่มีใครรู้เขตเลือกตั้ง และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีประกาศอย่างเป็นทางการออกมา

ขณะเดียวกัน รายชื่อผู้ตรวจฯทั้งหมดก็เชื่อว่าสามารถปรับเปลี่ยนโยกย้ายโดยใช้อำนาจฝ่ายบริหารจากกกต.กลางเมื่อรู้เขตเลือกตั้งที่ชัดเจน เพื่อปิดช่องที่จะเกิดตามข้อครหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นได้

การเขียนกฎหมายเองแล้วเสนอแก้กฎหมายเองโดยสนช.ครั้งนี้ สะท้อนถึงระบบการเมืองปัจจุบันที่ไม่เคยไว้ใจกับระบบทั้งที่ตัวเองเป็นคนออกแบบมา จึงทำให้เราเห็นข้อเสนอมักง่ายในการแก้ปัญหาด้วยการเสนอแก้ระบบใหม่และยกเลิกตัวบุคคลที่ดำเนินการไปแล้ว

จึงเกิดคำถามว่าหากแก้ตามที่สนช.เสนอ แล้วอะไรจะเป็นหลักประกันว่าระบบโครงสร้างการสรรหาที่ปรับเปลี่ยนไปจะไม่ได้ตัวบุคคลที่มีสัมพันธ์กับกกต.ชุดใหม่ หรือแม้กระทั่งสัมพันธ์กับสนช.เอง ทั้งหมดนี้หากสนช.เชื่อมั่นในระบบตั้งแต่แรกก็คงไม่มีปัญหา

ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับแนวทางการแก้ไขของสนช.ที่ปรับทั้งระบบและโละตัวบุคคล เพราะของเดิมคุณสมบัติผู้ตรวจการเลือกตั้งก็แย่พออยู่แล้ว หากจะสรรหาใหม่ก็หนีไม่พ้นลักษณะเดิม อีกทั้งสิ่งที่เสียไปคือเวลาและเงิน

ข้อเสนอแก้ไขจากสนช.ก็ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาดำเนินการให้เห็นว่าต้องใช้เวลาเท่าไร จะกระทบต่อการเลือกตั้งต้นปีหน้าที่สัญญาไว้หรือไม่ หรือหากพิจารณาเสร็จแล้วศาลรัฐธรรมนูญตีตกจะทำอย่างไร

ส่วนเรื่องเงินก็ถูกใช้ไปกับกระบวนการคัดเลือกจำนวนมากอยู่แล้ว การจะดำเนินการอะไรต้องคำนึงว่าประเทศไทยไม่ได้มีเวลาและเงินมากขนาดนั้น

ทางออกของเรื่องนี้ หากกลัวจะมีปัญหาเรื่องความบริสุทธิ์ยุติธรรมต่อการเลือกตั้งตามที่ให้ความเห็นไว้ ก็ควรแก้กฎ หมายกกต.เฉพาะบทลงโทษต่อผู้ตรวจการเลือกตั้งพอ เพื่อสร้างระบบให้เข้มแข็ง

ไม่จำเป็นต้องโละผู้ตรวจการเลือกตั้งออกไปเพื่อสรรหาใหม่ ไม่ใช่ระบบก็ไม่เอา ตัวบุคคลก็ไม่เอา แบบแนวทางที่สนช.เสนอ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นก็ร่างกันขึ้นมาเอง

4.ร.ต.วิจิตร อยู่สุภาพ

อดีตเลขาธิการกกต.

สำหรับการเตรียมตัวจัดเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกกต.ชุดใหม่ หรือชุดเก่าก็ต้องเตรียมบุคลากร ออกระเบียบการต่างๆ เมื่อได้คนมาแล้วก็ต้อง อบรมความรู้เรื่องกฎหมายเลือกตั้งทั่วประเทศ 616 คน ในส่วนนี้ก็ต้องใช้เวลาอยู่พอสมควร

ดูจากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งทั่วประเทศและกรรมการสรรหาที่มีผู้ว่าฯ อัยการจังหวัด และหัวหน้าศาล บุคคลเหล่านี้ถ้าเราไม่เชื่อเขาในความเป็นกลาง วุฒิภาวะ ก็ไม่รู้ว่าจะเชื่อใครได้

ขณะนี้กกต.ได้เลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งมาแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรต่อเลยก็ถูกครหาแล้วว่าบุคคลที่ถูกเลือกมานั้นไม่เหมาะสม ไม่มีคุณภาพ และไม่เป็นกลาง เสียงครหานั้นไม่ได้ออกมาจากใครแต่มาจากเป็นฝ่ายสนช.ผู้ออกกฎหมายนี้เอง

ยอมรับสนช.มีอำนาจแก้ไขกฎหมายได้ แต่ถ้าเป็นเช่นนี้จะเป็นการแก้ไขกฎหมายรายวันหรืออย่างไร ถ้าอย่างนั้นกฎหมายจะมีความศักดิ์สิทธิ์อย่างไร

อีกทั้งไม่เหมาะสมที่จะแก้ในตอนนี้เพราะยังไม่เห็นถึงความบกพร่องในส่วนนี้เลย ถ้าจะแก้คงต้องกลับไปถามว่ากฎหมายบกพร่องหรือคนบกพร่องกันแน่ และมีอะไรบ่งบอกหรือไม่ว่าต้องแก้ไขไม่เช่นนั้นก็จะแก้ไขกันไปเรื่อยๆ ทั้งรัฐธรรมนูญ หรือพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง

และต้องพิจารณาให้ดีว่าถึงแม้จะสามารถแก้ไขกฎหมายได้แต่มีความจำเป็นแล้วหรือยังที่จะแก้ กระบวนการที่จะแก้ไขเช่นนี้มันไม่ได้เรื่องเลยและไม่มีเหตุพอที่จะแก้ ผู้ได้รับเลือกก็ยังไม่ได้ขยับตัวทำอะไรเลย

กรรมการสรรหาโดยตำแหน่งก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการสรรหาโดยไม่ชอบหรือไม่เป็นกลาง แต่อยู่ๆ ก็มีกระแสข่าวออกมาว่าจะแก้ไขกฎหมาย

การสรรหาผู้ตรวจการเลือกตั้ง กกต.ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย แต่กรรมการสรรหาถ้าสรรหาได้แล้วก็ส่งรายชื่อให้กกต. จากนั้นกกต.ก็มาดูภายในและเลือกใครมาเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง แต่ตอนนี้เป็นเพียงการเตรียมการเท่านั้น

การแก้พ.ร.ป.กกต.คงส่งผลกระทบกับการเลือกตั้งแน่ ส่วนโรดแม็ปเลือกตั้งก็ยังคงเหมือนเดิม

สังคมคงมองว่ามันเกิดอะไรขึ้นหรือมีอะไรแอบแฝงอยู่หรือไม่ อย่างนี้หรือที่เรียกว่าการปฏิรูปการเมือง

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน